วันที่ 7 มี.ค. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ จัดงานเสวนา “เดลินิวส์ ทอล์ก 2024” (Dailynews Talk 2024) เพื่อเผยแพร่ความรู้และทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยภายใต้หัวข้อ “เช็กความพร้อมยานยนต์ไทย สู่…ท็อปเท็นโลก อย่างยั่งยืน” และมีเวทีเสวนาในหัวข้อ “อนาคตรถสันดาป-รถอีวี ไปทางไหน?”

โดยหนึ่งในผู้ร่วมเสวนา นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเป็นผู้ผลิตอันดับ 10 ของโลก มี 49 บริษัทกระทบกับการเปลี่ยนรถยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า โดยการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า มี 44 แบรนด์ 78 รุ่นในปัจจุบัน เกือบครึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน รุ่นที่ขายดีคือ 37% ราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท และมีมากกว่าครึ่งราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท การแข่งขันราคารุนแรงมาก

ทั้งนี้ ข้อมูลยานยนต์ในไทยปี 2565 (ค.ศ. 2022) ผลิตจำนวน 1.88 ล้านคัน และจะเพิ่มขึ้นในปีนี้มาอยู่ที่ 1.9 ล้านคัน ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกต่างประเทศ 1.15 ล้านคัน และขายในประเทศ 7.5 แสนคัน โดยไทยเป็นที่หนึ่งในอาเซียน ส่วนตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในไทย มียอดจดทะเบียน 76,000 คัน มากกว่าประเทศอื่นในอาเซียนมาก ซึ่งรองลงมาจะเป็นมาเลเซียเพียงกว่า 1 หมื่นคันเท่านั้น โดยมองว่าการปรับเปลี่ยนเข้ามาของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้รถสันดาปลดลง

“ตลาดส่งออกหลายตลาดหลายภูมิภาคยังดี ยิ่งในเอเชีย โดยเพาะอาเซียนเป็นตลาดใหญ่ มีเวียดนามลดความต้องการลงจากปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งทวีปโอเชียเนีย ตะวันออกลางบวกเยอะ ทำให้ภาพรวมโอกาสส่งออกยังมีบวกอยู่บ้างเล็กน้อย”

นายสุวัชร์ กล่าวว่า มองว่าถ้าเป็นมุมอุตสาหกรรม ถ้ามีดีมานด์ มีผู้ซื้อ คือโอกาส แต่การเข้าของรถยนต์รุ่นใหม่ยี่ห้อใหม่ไม่ได้ตอบโจทย์ซัพพลายเชนในปัจจุบัน ที่สามารถผลิตเครื่องยนต์เปลี่ยนเป็นผลิตมอเตอร์ได้หรือไม่ ซึ่งอาจมีผู้ผลิตอยู่แล้ว ที่สำคัญคือ ปัญหาผู้ประกอบการ ทำอยู่บนชิ้นส่วนสันดาป ไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า และมีการผลิตตามนโยบาย อีวี 3.0 และอีวี 3.5

ทั้งนี้ เป็นอุปสรรคที่ต้องให้ภาครัฐเห็น เพราะถึงแม้จะมีเงิน มีทุน มีเทคโนโลยี แต่มีคนซื้อหรือเปล่า? การดึงคนซื้อมาถึงผู้ผลิต ถ้ามีกำลังซื้อจะเกิดได้ ขณะที่กติกาการค้าโลกใหม่ ยอมรับว่าหนีไม่พ้นแต่ละประเทศต้องมีเรื่องคาร์บอนต่ำ คาร์บอนเป็นกลาง ที่เห็นชัดคือ การวัดรถยนต์เป็น CO2 ซึ่งตลาดไทยผูกตลาดส่งออกเยอะ ทำให้ปรับตัวไปสู่ยานยนต์เทรนด์ของโลก

เช่นเดียวกับข้อตกลงการค้าเสรี FTA ปัจจุบันมี FTA 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ หลักๆ คือ ในอาเซียน และเมื่อไทยอยู่อันดับ 10 ของโลกแต่เป็นผู้ผลิตไม่ใช่เจ้าของแบรนด์ และมีอีกหลายเจรจา FTA ที่กำลังเจรจา ซึ่งต้องดูให้สอดคล้อง ดูที่ไม่มีฐานการผลิตในประเทศนั้น ต้องเป็นการศึกษา และจะเป็นจุดดีถ้าเปิด FTA ได้ จะเพิ่มการส่งออกได้

“ถ้ารัฐบาลยังส่งเสริมยานยนต์ให้ไทยสามารถผลิตได้มาก ซึ่งไทยมีรถปิกอัพ รถอีโคคาร์ ที่เป็นโปรดักต์แชมเปี้ยน โดยต้องดูว่าจะไปประเทศไหน ต้องดูด้วยว่าเป็นพาวเวอร์เทรนด์แบบไหนในประเทศนั้นๆ”

นายสุวัชร์ กล่าวว่า สิ่งที่จะฝากถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล คือ ในอุตสาหกรรมยานยนต์อยากให้เพิ่มตลาดส่งออกไปต่างประเทศ แต่ต้องดูว่าคู่ค้าไหนที่ส่งออกมากกว่านำเข้า อยากฝากรัฐบาลเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ทำได้คือสมาคมฯ เป็นผู้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อยากให้ภาครัฐเลือกเปิดตลาด หาตลาด ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์เดินหน้าผ่านไปได้

“เดิมอุตสาหกรรมรถยนต์ผู้เล่นหลักเป็นญี่ปุ่น ยุโรป มีจีนเข้ามาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ มองเป็นประโยชน์เพิ่มกำลังการผลิต ทำให้ต้องปรับมุมมองภาครัฐ ส่งเสริมสนับสนุนต่อเนื่องและฟังเสียงผู้ประกอบการ ต้องช่วยกันทำให้ตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นไปอีก”