สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ว่า องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (ดับเบิลยูไอพีโอ) ระบุในรายงานภาพรวมประจำปีว่า มีการยื่นจดสิทธิบัตรระหว่างประเทศทั้งหมด 272,600 ฉบับในปี 2566 ซึ่งลดลง 1.8% จากปีก่อนหน้า

“เราเชื่อว่าสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์ในปัจจุบัน สำหรับนวัตกรรมและกิจกรรมของผู้ประกอบการ” นายคาร์สเตน ฟิงค์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของดับเบิลยูไอพีโอ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในเมืองเจนีวา

แม้ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเป็นพิเศษในปีที่แล้ว ถือเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้การยื่นจดสิทธิบัตรลดลง แต่ฟิงค์เน้นย้ำว่า แนวโน้มข้างต้นควรถูกมองว่าเป็น “ปรากฏการณ์ที่เป็นวัฏจักร” และดับเบิลยูไอพีโอ คิดว่าการยื่นจดสิทธิบัตรระหว่างประเทศ จะเพิ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อสภาพแวดล้อมภายนอกดีขึ้น

ด้านนายดาเรน ถัง ผู้อำนวยการใหญ่ของดับเบิลยูไอพีโอ เห็นด้วยกับฟิงค์ โดยชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลง อาจช่วยสร้างความเชื่อมั่นทางธุรกิจ และการลงทุนด้านนวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นตัว ของการยื่นจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ ในช่วงปลายปีนี้

“แม้มีการลดลงในระยะสั้น แต่แนวโน้มระยะยาวแสดงให้เห็นว่า การใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในเศรษฐกิจดิจิทัลทั่วโลก และกระจายทั่วไปโลก เนื่องจากเศรษฐกิจรอบโลกมีการพัฒนา” ถัง กล่าวในแถลงการณ์

ทั้งนี้ การยื่นจดสิทธิบัตรในหลายประเทศลดลง ยกเว้นบางประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้, อินเดีย, ตุรกี, เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ซึ่งมีการยื่นจดสิทธิบัตรมากขึ้น

ขณะที่รายงานของดับเบิลยูไอพีโอ เผยให้เห็นว่า ทวีปเอเชียคิดเป็น 55.7% ของการยื่นจดสิทธิบัตรทั้งหมดในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนมากกว่า 40% เมื่อ 10 ปีก่อนหน้า.

เครดิตภาพ : AFP