เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 10 มี.ค. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางไปเป็นประธานมอบรางวัลในงาน World Heritage Series Run 2024 เขาใหญ่เพื่อผู้พิทักษ์ป่า ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา โดยมีนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ โดย พล.ต.อ.พัชรวาท ได้พบปะพูดคุยและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ พร้อมกำชับเรื่องการดูแลไฟป่าให้เข้มงวดในช่วงนี้ด้วย และดูแลนักท่องเที่ยวให้ได้รับความสะดวกปลอดภัย 

ต่อมาเวลา 09.30 น. ภายหลังจากมอบรางวัลแล้วเสร็จ พล.ต.อ.พัชรวาท ได้เป็นประธานการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มายังห้องประชุมชั้น 3 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ นางชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัดกระทรวงฯ น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดและตัวแทนจาก 17 จังหวัดภาคเหนือเข้าร่วมประชุม 

โดยนายจตุพร ได้รายงานผลการดำเนินงานในการหารือกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมา และกัมพูชา ตามที่ พล.ต.อ.พัชรวาท มอบหมาย ซึ่งทั้งสองประเทศพร้อมจะให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาร่วมกันและจากนี้จะมีเวิร์กช็อปร่วมกันด้วย ขณะเดียวกันช่วงวันเดียวกันนี้พบว่ามีจุดความร้อนจากเมียนมา 5,502 จุด กัมพูชา 1,133 จุด ลาว 664 จุด และในประเทศ 730 จุด มีสัดส่วนจากป่ามากสุด 638 จุด และจุดความร้อนมากที่สุดคือเชียงใหม่ 

ขณะที่ น.ส.ปรียาพร ได้รายงานภาพรวมสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ว่า  พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ระดับดีถึงปานกลาง สีเขียว สีเหลือง ส่วนพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ มีค่าเกินมาตรฐาน ส่วนใหญ่อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพหรือสีส้ม จังหวัดที่ยังคงต้องเฝ้าระวังคือ จังหวัดน่าน แม่ฮ่องสอน และเชียงราย ซึ่งอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพสีแดง ซึ่งสถานการณ์มีแนวโน้มที่จะบรรเทาลงช่วงระหว่างวันที่ 14-17 มี.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ภาคเหนือช่วงนี้เกิดจากปัจจัยจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก ดังนั้นจึงส่งผลต่อจังหวัดตามแนวชายแดน 

ด้าน พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่นเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น ขอมอบนโยบายเพื่อให้ทุกหน่วยงานนำไปปฏิบัติยกระดับการรับมือและมาตรการฉุกเฉินในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงสถานการณ์วิกฤติ อย่างเร่งด่วนเต็มที่ เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจ โดยเฉพาะการจัดการไฟในพื้นที่ป่า โดยเฉพาะพื้นที่มุ่งเป้า ทั้ง 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวน พื้นที่เกษตรเผาไหม้ซ้ำซากทั้งในพื้นที่ป่า ในพื้นที่สูง ในพื้นที่ราบของ 17 จังหวัดภาคเหนือ ดังนี้ 1. ปรับรูปแบบการจัดกำลัง ดับไฟป่าด้วยยุทธวิธี ผสมผสานทั้งการตรึงพื้นที่ ด้วยจุดเฝ้าระวัง และการลาดตระเวน การส่งกำลัง และดับไฟโดยอากาศยาน เข้าถึงไฟให้เร็ว ควบคุมไม่ให้ขยายวงกว้าง คุมแนวไฟและดับให้สนิท ให้วอร์รูมบัญชาการชุดปฏิบัติการดับไฟป่าตลอดเวลาที่มีการเข้าพื้นที่ 

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวต่อว่า 2.ติดตามสถานการณ์จุดความร้อน สนธิกำลังพลทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครอง และเครือข่าย ทั้งระดับภาคพื้นและอากาศยาน ลาดตะเวน เฝ้าระวัง อย่างเข้มข้นเมื่อพบต้องเร่งปฏิบัติการเพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์โดยทันทีแต่ต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ งดการใช้อาสาสมัครที่ไม่ได้รับการฝึกปฏิบัติ เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสีย 3. สนับสนุนและบูรณาการทำงานอย่างเต็มที่เป็นหนึ่งเดียว กับศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นศูนย์กลาง 4. “ปิดป่า” ห้ามมิให้บุคคลเข้าไปในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่สถานการณ์รุนแรง บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด ยกระดับการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ลักลอบจุดไฟเผาป่า 5. สำหรับพื้นที่เกษตรต้องติดตามเฝ้าระวังประสานงานกับฝ่ายปกครองอย่างใกล้ชิด เพื่อลดและควบคุมไม่ให้เกิดการเผาและหากเกิดต้องควบคุมให้ได้โดยเร็ว 

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวอีกว่า และ 6.สื่อสาร แจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างทั่วถึง ทันท่วงทีเพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่รวดเร็ว ถูกต้อง สร้างความรู้ทำความเข้าใจกับประชาชนให้ปฏิบัติตนตามคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสม และเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติการด้วยความแม่นยำ รวดเร็ว ทันท่วงที มีประสิทธิภาพ และคำนึงถึงความปลอดภัย และสุดท้ายได้ขอบคุณทุกท่านที่ทำงานด้วยความเหน็ดเหนื่อยเพื่อพี่น้องประชาชน.