เมื่อเวลา 16.50 น. วันที่ 10 มี.ค. ที่ สะพานดำรงสถิต หรือสะพานเหล็ก ต่อเนื่องจนถึงสะพานหัน ถ.เจริญกรุง แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยนางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกทม. นายโกศล สิงหนาท ผอ.เขตพระนคร นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษก กทม. ร่วมกันลงพื้นที่บริเวณรอยต่อคลองโอ่งอ่าง เพื่อติดตามแผนพัฒนาพื้นที่ระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว รวมถึงการส่งมอบพื้นที่ ภายหลังมีภาพการจอดรถบนทางเท้าถูกแชร์ในโลกโซเซียลและมีการถามถึงการดำเนินการแก้ไข

นายศานนท์ กล่าวว่า จากประเด็นที่หลายคนมองว่ากทม. ทิ้งพื้นที่คลองโอ่งอ่างและไม่ได้สืบทอดนโยบายของผู้ว่าฯกทม.คนเก่านั้น ขอชีแจงว่า ทุกการพัฒนามีข้อดีทั้งนั้น และผู้ว่าฯ กทม. ทุกคนที่เข้ามาบริหาร ก็มาเพื่อที่จะต่อยอด โดยเฉพาะในส่วนที่มีการพัฒนาไปแล้วประมาณ 900 เมตรเดิม

แต่ในปี67 กทม.จะขยายพื้นที่รอยต่อเพิ่มไปอีก 800 เมตร ซึ่งเป็นการขยายจากบริเวณสะพานดำรงสถิต ไปจนถึงถนนบำรุงเมือง ส่วนในปี68 จะขยายต่อไปยังป้อมมหากาฬ เพื่อเชื่อมกับคลองผดุงกรุงเกษม จึงยืนยันว่าทางกทม.ไม่ได้มีการหยุดพัฒนาพื้นที่คลองโอ่งอ่างและส่วนต่อขยายอื่นๆ เพราะการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการปรับภูมิทัศน์บริเวณคลองโอ่งอ่างอย่างแท้จริง

ดังนั้น หากไปดูในส่วนที่ กทม. มีการปรับภูมิทัศน์บริเวณคลองโอ่งอ่างไปแล้ว 900 เมตรดังกล่าว อยู่ในส่วนของทิศใต้ซึ่งเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะที่ส่วนที่เชื่อมไปทางทิศเหนือจะไปชนกับคลองแสนแสบและเชื่อมกับคลองบางลำพู จะทำให้การสัญจรไม่ใช่แค่การเชื่อมคลองเพียงอย่างเดียว แต่มันคือการเชื่อมย่าน เหมือนที่คลองโอ่งอ่างเชื่อมถึงกับซอยวานิชและซอยสำเพ็ง ทำให้มีคนมาจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าได้จำนวนมาก

นายศานนท์ กล่าวอีกว่า ถ้าเราทำส่วนต่อขยายไปทางทิศเหนือสำเร็จ ที่จะไปชนกับคลองแสนแสบและเชื่อมกับคลองบางลำพู ก็จะเชื่อมโยง ถึงรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสามยอด และโซนประตูผี ต่อไปยังถนนข้าวสารได้อีกด้วย แปลว่าในอนาคตถ้าเราทำได้จริง มันจะทำให้การเดินเท้าจากถนนเยาวราช ตลาดน้อยมาถึงสำเพ็งและคลองโอ่งอ่าง ปากคลองตลาด พาหุรัด ก็จะเป็นการเชื่อมโยงย่านชุมชนท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี เดินได้ทั่วถึง

ส่วนกรณีที่มีการพูดกันว่าคลองโอ่งอ่างมีสภาพซบเซาลงไปมากนั้น นายศาลนนท์ แจงว่า เมื่อปีที่แล้วตนได้มาพูดคุยกับผู้ประกอบการ ซึ่งทราบว่าสาเหตุเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 แต่หลังจากนั้นจะมีการพูดคุยกันใหม่ และเขตพระนครได้เข้ามาคุยกับผู้ประกอบการทำให้ทราบรายละเอียดความยาก เพราะคลองโอ่งอ่างมี 2 เขตเชื่อมโยงกัน คือ เขตพระนคร และเขตสัมพันธวงศ์ ทำให้ประชาชนมี 2 ฝั่งเขต และมีการผลัดกันทำกิจกรรมในช่วงที่ผ่านมา

สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต คือ กทม. เข้ามาช่วยในการจัดอีเว้นท์ของ 2 เขต เพื่อกระตุ้นจนเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่หน้าที่ของ กทม. คือ อยากทำให้มันเกิดความยั่งยืน ขอให้ประชาชนทั้ง 2 เขตรวมตัวกัน แต่ตรงนี้เราก็จะไม่ได้รออย่างเดียว กทม. เองก็จะลงมาสานต่อกิจกรรมด้วย แม้ที่ผ่านมาจะมีกิจกรรมเป็นช่วง ๆ ไม่ได้ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ เช่น Little India เทศกาลดีปาวลี (ทีปาวลี) หรือประเพณีต่าง ๆ ลอยกระทง สงกรานต์ เป็นต้น แต่หลังจากนี้เราก็จะดึงความร่วมมือจากผู้ค้ามากขึ้น เช่น สำนักงานเขตพระนคร จะจัดกิจกรรมสัปดาห์งานของเล่น (Art Toy) คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ก่อนเทศกาลสงกรานต์ กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนได้

” หากสังเกตในบริเวณพื้นที่ของปากคลองตลาดจะมีคนหนุ่มสาวซื้อดอกไม้จำนวนมากและเดินเล่น ตนหวังว่าพื้นที่บริเวณนี้ที่ยังไม่ได้ไปเชื่อมกับพื้นที่ส่วนอื่นโดยเฉพาะคลองโอ่งอ่าง ซึ่งอุปสรรคที่ทำให้พื้นที่ปากคลองตลาดยังไม่มาเชื่อมกับคลองโอ่งอ่างนั้น พบว่ามีหลายหน่วยงานดูแลต่างพื้นที่กันจึงทำให้การประสานงานเพื่อการพัฒนา เป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ปัจจุบัย กทม. รวบรวมพื้นที่ทั้งหมดในโซนดังกล่าว ให้สำนักสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ดูแลเพียงหน่วยงานเดียว สามารถเชื่อมต่อ ตัดรั้วให้คนเดินเชื่อมกันได้ โดยจะเร่งพัฒนาต่อไป

ขณะที่นางวันทนีย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการจัดเตรียมคณะกรรมการการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาเขต ทั้งเขตพระนครและเขตสัมพันธวงศ์ คือย่านสร้างสรรค์ที่จะเชื่อมต่อเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่และจะเป็นอัตลักษณ์ของ กทม. ดังนั้น การฟื้นฟูย่านสร้างสรรค์ของชุมชนคือ การฟื้นฟูที่ประชาชน ทุกคนต้องมาช่วยกัน ในขณะที่ กทม. จะมาเป็นตัวช่วยเสริมสำคัญแทน.