สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ว่า ข้อมูลจากกองสืบสวนทางเพศ สตรี และเด็ก (ดี11) ของกรมสอบสวนคดีอาญา (ซีไอดี) ในมาเลเซีย เผยให้เห็นว่า แม้เหยื่อที่เป็นผู้หญิงยังคงมีจำนวนมากกว่า แต่เหยื่อที่เป็นผู้ชาย ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ในปี 2564 ดี11 บันทึกเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศที่เป็นผู้ชาย 82 คน จาก 2,905 คน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเพิ่มเป็น 95 คน จาก 2,920 คน เมื่อปี 2565 และในปีที่แล้ว ตำรวจมาเลเซียบันทึกจำนวนเหยื่อเพศชายได้ 135 คน จาก 3,361 คน หรือประมาณ 4% ของเหยื่อทั้งหมด

ตามสถิติของตำรวจ การกระทำผิด 6 ประการที่ถือว่าเป็นความผิดเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ และการทำร้ายร่างกาย ได้แก่ การข่มขืน, การข่มเหงทางเพศ, การลวนลามทางเพศ, การทำอนาจาร, การเผยแพร่เนื้อหาลามก และการสะกดรอยตาม

แม้ผู้หญิงมีสัดส่วน 98.56% ของเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศและการทำร้ายร่างกาย 9,198 คน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่ตำรวจมาเลเซีย ก็ให้ความสำคัญกับเหยื่อที่เป็นผู้ชายอย่างจริงจังเช่นกัน

“สถานการณ์ในมาเลเซีย แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนอาชญากรรมที่เกิดขึ้น และจำนวนอาชญากรรมที่ถูกรายงาน” นางซีตี กัมเซียห์ ฮัสซัน ผู้ช่วยผู้อำนวยการดี11 กล่าวในการให้สัมภาษณ์ “การเพิ่มขึ้นนี้เกิดจากวิวัฒนาการของอาชญากรรมในระดับโลก โดยอาชญากรรมทางเพศที่มีอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลาง ทำให้อาชญากรรมข้ามพรมแดนเกิดได้ง่ายขึ้น และเข้าถึงเหยื่อเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้ชาย หรือผู้หญิงได้ โดยไม่คำนึงถึงขอบเขตทางภูมิศาสตร์”

ทั้งนี้ ซีตี กัมเซียห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มอาชญากรรมเผยให้เห็นว่า กรณีการล่วงละเมิดทางเพศ และการทำร้ายร่างกายส่วนใหญ่ เกิดขึ้นในสถานที่ทำงาน บ้าน และพื้นที่สาธารณะ ยิ่งไปกว่านั้น แนวโน้มข้างต้นยังบ่งชี้ว่า เหยื่อผู้ชายส่วนมากเป็นเด็ก และคดีมีความเกี่ยวข้องกับผู้ต้องสงสัยที่เหยื่อเชื่อใจ และคนรู้จักทางออนไลน์จากเกมต่าง ๆ ด้วย.

เครดิตภาพ : AFP