เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วธ. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบูรณาการกำหนดแนวทางการจัดงานสงกรานต์ พุทธศักราช 2567 โดยนายเสริมศักดิ์ กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ในโอกาสที่ “ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย” ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2566 ถือเป็นการกระตุ้นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้เกิดความสนใจ เดินทางมาสัมผัสบรรยากาศงานประเพณีในประเทศไทย จะนำมาซึ่งรายได้มหาศาลที่เกิดจากนักท่องเที่ยว ทั้งนี้การประชุมดังกล่าว มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 33 หน่วยงาน ร่วมกำหนดแนวทางในการจัดงานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2567 โดยให้สอดคล้องกับแนวคิดกับการจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ 2567” ของรัฐบาล ประกอบด้วย 10 แนวทาง ดังนี้ 1. จัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์ที่เป็นการสร้างการรับรู้ต่อประชาชนชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย 2. จัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์โดยเน้นเผยแพร่คุณค่าและสาระที่ถูกต้องของวัฒนธรรม ประเพณี คำนึงถึงความเหมาะสม บริบทของแต่ละท้องถิ่นที่หลากหลายทางวัฒนธรรม 3. ส่งเสริมให้จังหวัดต่างๆ ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมในประเพณีสงกรานต์ เพื่อร่วมกันสืบสานประเพณีที่ดีงาม เหมาะสม 4.รณรงค์ให้ประชาชนสืบสานคุณค่าสาระและสิ่งที่ควรทำของประเพณีสงกรานต์ เช่น ทำความสะอาดบ้าน วัด ศาสนสถาน สถานที่สาธารณะ ทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์ สรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำขอพรผู้สูงอายุ และใช้ทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้งอย่างประหยัด รู้คุณค่า

นายเสริมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า 5.รณรงค์ให้ประชาชนสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยในการเข้าร่วมประเพณีสงกรานต์ เช่น แต่งกายด้วยชุดไทย ผ้าท้องถิ่น ชุดไทยย้อนยุค เสื้อลายดอก หรือเสื้อผ้าที่เป็น Soft Power ของท้องถิ่น 6.ขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ สนับสนุนศิลปินพื้นบ้านในการจัดกิจกรรม การละเล่น และการแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น เพื่อถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 7. รณรงค์ให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมประเพณีสงกรานต์โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน เช่น ไม่คุกคามทางเพศ เคารพและให้เกียรติผู้ที่ไม่ประสงค์จะเล่นสาดน้ำ ไม่สร้างความเดือดร้อน ไม่สร้างความวุ่นวายในที่สาธารณะ 8. ขอความร่วมมือประชาชนที่ขับขี่ยานพาหนะและใช้ถนนโดยปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงช่วยสอดส่อง หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ในกรณีพบเห็นผู้ที่ปฏิบัติตนไม่เหมาะสม 9.จัดงานตามคำแนะนำในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อของกระทรวงสาธารณสุข และคำนึงถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงประเพณีสงกรานต์และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และ 10. ส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างสรรค์ที่สามารถพัฒนาต่อยอดจากคุณค่าสาระของประเพณีสงกรานต์เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจของชุมชนและประเทศ

“ยูเนสโกอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ UNESCO และตราสัญลักษณ์ของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ควบคู่กับตราสัญลักษณ์ของหน่วยงาน ในการจัดงานส่งเสริมและรักษาประเพณีสงกรานต์ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1-30 เม.ย. 2567 หน่วยงานใดประสงค์จะใช้ตราสัญลักษณ์ดังกล่าว ให้ส่งคำร้องขอใช้ตราสัญลักษณ์ UNESCO ไปยังกลุ่มมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศ สถาบันวัฒนธรรมศึกษา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ที่อีเมล [email protected]” รมว.วธ.กล่าว