เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีและโฆษกกระทรวงยุติธรรมฝ่ายการเมือง นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ประชุมผู้บริหารกระทรวง ครั้งที่ 2/67 โดยมีวาระ การศึกษาทบทวนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี โดยมีการระดมความเห็นแนวทางการจัดกิจกรรม 100 ปี การบังคับใชัประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ พล.ต.อ.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. นางเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาการอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ น.ส.มัชฌิมธร คัมภิรานนท์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการ รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน ผู้อำนวยการศูนย์นิติศึกษาทางสังคม ประวัติศาสตร์ และปรัชญา นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายพิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (ทีไอเจ) รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม หัวหน้ากลุ่มพัฒนากฎหมาย และนักวิชาการ

รศ.ดร.มุนินทร์ให้ความเห็นว่า ในฐานะที่ทำวิจัย ประวัติศาสตร์ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เห็นด้วยกับการศึกษาทบทวนที่กระทรวงยุติธรรมควรเป็นแกนหลัก สืบเนื่องจาก ป.พ.พ. เกิดขึ้นโดยใช้วิธีคัดเลือกและจัดทำการแปลมาจากกฎหมายต่างประเทศโดยตรง ตามประวัติมีพระยามานวราชเสวี เป็นบุคคลสำคัญในการจัดทำในช่วงปี 2466-2468 จัดทำเป็น ป.พ.พ.เป็นผลสำเร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 โดย บรรพ 1 และบรรพ 2 ได้รับอิทธิพลจากประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส และมีคณะกรรมการแก้ไขปรับเปลี่ยนไปตามแนวของประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ผ่านการเปรียบเทียบและชำระโดยประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่น โดยมีผลเริ่มใช้บังคับวันที่ 1 มกราคม 2469 และค่อยๆ พัฒนาบรรพอื่นๆ ตามมาจนครบ 6 บรรพ จนใช้อยู่ในปัจจุบันตลอดมาเกือบ 100 ปี

ประกอบด้วยบรรพที่ 1 หลักทั่วไป บรรพที่ 2 หนี้ บรรพที่ 3 เอกเทศสัญญา บรรพที่ 4 ทรัพย์สิน บรรพที่ 5 ครอบครัว บรรพที่ 6 มรดก ป.พ.พ.เป็นกฎหมายสำคัญ ที่เป็นข้อพิพาทของเอกชน ซึ่งเกิดข้อพิพาทมากกว่า 2 เท่าของคดีอาญา แม้มีการแก้ไขบ้าง แต่ยังไม่เคยมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ การบังคับใช้มาอย่างยาวนานทำให้พบปัญหาต่างๆ อาทิ การตีความ การใช้ภาษาที่เข้าใจยาก สร้างภาระค่าใช้จ่าย เกิดความล่าช้า ไม่ทันสมัย กลายเป็นอุปสรรคการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การบังคับใช้บางส่วนไม่สอดคล้องเชิงระบบของกฎหมาย ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสังคม เป็นต้น

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เนื่องในวาระที่จะครบ 100 ปี แห่งการนำ ป.พ.พ.มาใช้ในสังคมไทยจึงมีความสนใจในการน้อมรำลึก 100 ปี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทย ที่กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อทบทวนและพัฒนาทั้งเนื้อหาและกระบวนการ โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานนิติศาสตร์ฝ่ายต่างๆ ทั้งฝ่ายตุลาการ นิติบัญญัติ หน่วยงานภาคี อาทิ สภาทนายความ จุดเริ่มต้นจึงได้ทำความเข้าใจกับหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม ก่อนเริ่มกระบวนการดำเนินงานที่กำหนดไว้เป็นเบื้องต้น ตั้งแต่การตั้งคณะอนุกรรมการฯและคณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อศึกษา ป.พ.พ. ทั้งการจัดสัมมนาทางวิชาการ วิจัยและพัฒนาทางวิชาการ การเผยแพร่องค์ความรู้จัดกิจกรรมให้เกิดการรับรู้ตื่นตัวรวมถึงการวิเคราะห์ปรับปรุง ป.พ.พ.โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกระบวนการนิติบัญญัติ ที่อาจใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน แล้วนำข้อมูลมาประมวลก่อนเผยแพร่ และจัดเวทีรับฟังข้อเสนอต่อสังคมในช่วงสิ้นปี 2567 และช่วงปี 2568 จะนำข้อเสนอทั้งหมดสู่การจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ครบ 100 ปี ต่อไป

สำหรับกรอบเวลาดำเนินการตามโครงการศึกษาทบทวนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี นั้น มีนาคม 2567 กระทรวงยุติธรรมประกาศโครงการฯ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ เมษายน-31 ธันวาคม 2567 คณะอนุกรรมการทั้ง 6 บรรพ ศึกษาปัญหา รับฟังความคิดเห็น และจัดทำข้อเสนอในแต่ละคณะอนุกรรมการฯ

มกราคม-เมษายน 2568 ดำเนินการจัดทำรายงานการศึกษาทบทวนเพื่อเตรียมตีพิมพ์เผยแพร่ และเตรียมการจัดกิจกรรมเผยแพร่ข้อเสนอการศึกษาทบทวน และกิจกรรมทางวิชาการ พฤษภาคม-ธันวาคม 2568 จัดกิจกรรมเพื่อรำลึก 100 ปี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์