เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นางรัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบหลักการโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน (ภาคใต้) วงเงินงบประมาณ 163.231 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชนให้ได้รับการดูแลครอบคลุมในทุกมิติอย่างเหมาะสม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ โดยโครงการนี้มีกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์ รวม 1.62 ล้านคน ในพื้นที่ 151 อำเภอของ 14 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี ตรัง พัทลุง นราธิวาส ชุมพร ปัตตานี ยะลา กระบี่ ภูเก็ต พังงา สตูล และระนอง

นางรัดเกล้า กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชนนั้น กรมกิจการผู้สูงอายุได้เสนอตั้งงบประมาณในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ไว้แล้วจำนวน 8.850 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการในลักษณะนำร่องใน 12 จังหวัด 19 พื้นที่ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเมื่องบประมาณได้ผ่านการอนุมัติ แต่จากการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.ระนอง เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2567 พม. ได้รวบรวมข้อมูลและพบว่า 14 จังหวัดภาคใต้ มีประชากรสูงอายุ จำนวน 1.62 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 17.14 ของจำนวนประชากรในภาคใต้ทั้งหมดที่มี 9.45 ล้านคน (ข้อมูลจากกรมการปกครอง ณ เดือน ธ.ค. 2566) ขณะที่ผู้สูงอายุยังมีแนวโน้มอยู่ลำพังคนเดียวและถูกทอดทิ้งเพิ่มขึ้น เพราะสมาชิกในครอบครัวย้ายถิ่นฐานเพื่อการประกอบอาชีพ โดยมีผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง จำนวน 189,190 คน และมีผู้สูงอายุดูแลกันเอง 89,680 คน (ข้อมูลจากกรมการพัฒนาชุมชน ณ เดือน ธ.ค. 2565) ทำให้เกิดการขาดแคลนจำนวนผู้ดูแลผู้สูงอายุและผู้สูงอายุไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม

นางรัดเกล้า กล่าวว่า พม. จึงเสนอโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชนในภาคใต้ ด้วยวงเงิน 163.231 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้ จะมีการจัดอบรมบุคคลเป็นผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ โดยจะมีการรับสมัครและพิจารณาคัดเลือกคนในแต่ละพื้นที่ พื้นที่ละ 2 คน ให้เป็นผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ เพื่อเข้ารับการอบรมตามหลักสูตรที่กำหนดและปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน รวมถึงจัดอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุขั้นสูงหรือหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง (ใช้ระยะเวลาอบรมประมาณ 3 เดือน) จากสถาบันหรือหน่วยงานที่ได้รับรองอนุญาตใช้หลักสูตรจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงมีการจัดอบรมเพิ่มเติมทักษะความรู้อื่นที่เกี่ยวข้องกับการดูแลคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ การดูแลปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคม และการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งนี้ ผู้บริบาลฯ ปฏิบัติงานลงพื้นที่ดูแลผู้สูงอายุที่บ้านและจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชนตามระยะเวลาและสถานที่ที่กำหนด โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึงจะประเมินผลการดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง