ล่าสุด บมจ.อุบล ไบโอ เอทานอล ได้จัดทำโครงการอุบลโมเดลพลัส ที่วางรากฐาน สร้างเกษตรกรต้นแบบมันสำปะหลังอินทรีย์ใน จ.อุบลราชธานีได้ตามเป้า สู่ “โครงการอีสานล่าง 2 โมเดลพลัสนวัตกรรม” ครอบคลุมพื้นที่ใน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.อุบลราชธานี จ.ยโสธร จ.อำนาจเจริญ และ จ.ศรีสะเกษ ผ่านการผสานความร่วมมือด้านนวัตกรรมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. กรมวิชาการเกษตร เช่น การผลิตท่อนพันธุ์สะอาด การใช้สารชีวภัณฑ์ การใช้ชุดตรวจโรคใบด่าง

“สุรียส โควสุรัตน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.อุบล ไบโอ เอทานอล ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูกช่วงต้นปี 66 อุบลฯ ได้ร่วมวิจัยหัวข้อการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการใช้ปัจจัยการผลิตให้เหมาะสม สำหรับมันสำปะหลังอินทรีย์ ภายใต้ทุนวิจัยจากสวก. นำเกษตรกรใน 3 พื้นที่อาสาร่วมเป็นแปลงต้นแบบวิจัยทั้งหมด 36 แปลง นำร่องพื้นที่ได้แก่ จ.อุบลราชธานี จ.อำนาจเจริญ และ จ.ยโสธร โดยผลการศึกษาพบว่า แปลงของเกษตรกรต้นแบบ ที่ได้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ดินก่อนการเพาะปลูก และใส่ปุ๋ยอินทรีย์ตามค่าวิเคราะห์ดิน ในพื้นที่ 1 ไร่ มีนํ้าหนักต่อต้นเฉลี่ยจากเดิม 2.2 กิโลกรัมต่อต้น เพิ่มขึ้นเป็น 3.84 กิโลกรัมต่อต้น คิดเป็น 74.55% มีจำนวนหัวต่อต้นเฉลี่ยจากเดิม 13.2 หัวต่อต้น เพิ่มขึ้นเป็น 15 หัวต่อต้น คิดเป็น 13.64% ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยจากเดิม 4.6 ตันต่อไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 7.2 ตันต่อไร่ คิดเป็น 56.52% และมีเปอร์เซ็นต์แป้งเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดิม 26% เพิ่มเป็น 27%

การส่งเสริมการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการใช้ปัจจัยการผลิตให้เหมาะสม สำหรับมันสำปะหลังอินทรีย์ นำปัจจัยการผลิตที่ได้มาจากกากเอทานอลที่ได้รับการย่อยหลังการหมักยีสต์ในแอลกอฮอล์ มาปรับปรุงด้วยจุลินทรีย์ หมักทิ้งไว้ในช่วงเวลาที่ถูกต้องคือ 90 วันตามหลักมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล จนเกษตรกรเรียกติดปากว่า “สารปรับปรุงดิน ไบโอฮับ” ที่บริษัทฯ ได้ขอการรับรองมาตรฐาน IFAOM ซึ่งกระบวนการนี้คือเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้เกิดมูลค่าทางการเกษตร พร้อมกันนี้บริษัทฯ มีแผนที่จะพัฒนาสูตรใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในระยะถัดไป

ปัจจุบันอุบลฯ มีเกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานอินทรีย์ระดับสากล จำนวน 800 ราย พื้นที่รวม 10,000 ไร่ พร้อมตั้งเป้าหมายขยายพื้นที่การรับรองมาตรฐานมันสำปะหลังอินทรีย์ในระดับสากลให้ได้ 50,000 ไร่ ในปี 68 โดยอุบลฯ ยังมุ่งเป้ายกระดับการส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลังผ่านการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีในการพัฒนาด้านการเกษตรให้สามารถเป็นวัตถุดิบที่ปลอดภัยให้กับลูกค้า และยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรไปพร้อม ๆ กัน.