นางพักตร์พิไล ทวีสิน ภริยานายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำคณะกรรมการคณะคู่สมรสคณะรัฐมนตรี (คสร.) เดินทางลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี เพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจชุมชน วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และผลิตผ้าท้องถิ่น โดยมี พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีและหัวหน้าส่วนราชการ พร้อมด้วยประชาชนร่วมต้อนรับ โดยคณะฯ เดินทางถึงท่าอากาศยานปัตตานี เวลา 10.00 น. จากนั้นเดินทางไปยังวัดราษฎร์บูรณะ (วัดช้างให้) เป็นวัดเก่าแก่มีอายุกว่า 300 ปี ในพื้นที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เพื่อสักการะหลวงปู่ทวด และเข้านมัสการเจ้าอาวาสวัดราษฎร์บูรณะ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ กลุ่มสตรี และประชาชนในพื้นที่ มาต้อนรับ ส่งมอบดอกไม้ เพื่อเป็นสื่อสัญลักษณ์การยินดีต้อนรับสู่พื้นที่จังหวัดปัตตานี วัดช้างให้ เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาแล้วกว่า 300 ปี

จากนั้น นางพักตร์พิไล ทวีสิน ภริยานายกรัฐมนตรี และคณะเดินทางไปยังมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ชมความงามของมัสยิด ที่ขนานนามว่า เป็นทัชมาฮาลเมืองไทย เป็นมัสยิดที่สวยที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2497 เป็นศูนย์กลางของผู้นับถือศาสนาอิสลามทั่วประเทศ โดยอาคารมัสยิดได้ใช้ต้นแบบทัชมาฮาลของประเทศอินเดีย ผสมวิหารแบบตะวันตก ออกแบบโดยสถาปนิกกรมการศาสนา คณะภริยานายกรัฐมนตรีมนตรี ยังเดินทางชมมัสยิดกรือเซะ อ.เมือง จ.ปัตตานี มัสยิดสุลต่านมูซัฟฟาร์ชาห์ เป็นมัสยิดเก่าแก่อายุกว่า 450 ปี สันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 22 ร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัสยิดปิตูกรือบัน จากนั้นคณะยังร่วมชมการทำผ้าบาติก ณ กลุ่มยาริงบาติก อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี พร้อมพบปะกลุ่มสตรีในพื้นที่ เพื่อเป็นหนึ่งเสียงขับเคลื่อนบทบาทสตรีในการยกระดับชุมชน สร้างอาชีพและรายได้ ทั้งยาริงบาติก เป็นกลุ่ม OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ที่ใช้ทักษะและความสามารถด้านการใช้งานศิลปะ ในการวาดลายและการพิมพ์ลายบนผืนผ้า มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สร้างมูลค่าและความแตกต่างให้กับลายผ้า โดยพัฒนาและต่อยอดจากลายผ้าพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา นำลาย “ป่าแดนใต้” มาเป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งนี้ คณะยังเดินทางกราบสักการะศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นศาลศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่เมืองปัตตานี ตั้งแต่สมัยโบราณ ชาวบ้านต่างให้ความเคารพนับถือ เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนในพื้นที่