นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 67 มีแนวโน้มโตต่ำกว่าคาด โดยปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 67 ลงมาอยู่ที่ 2.8% จาก 3.1% จากอุปสงค์ในประเทศที่โมเมนตัมยังแผ่วลง รวมถึงภาคการผลิตที่ยังหดตัวต่อเนื่อง และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนได้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังหดตัวหลายเดือนติดต่อกัน

ทั้งนี้ในปี 67 เศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงหนุนจากการกลับมาเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐบาลและการส่งออกสินค้าที่คาดว่าขยายตัว 2% และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีโอกาสโตถึง 36 ล้านคนในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้สิ้นสุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นไปแล้วที่ 2.5% และ ธปท. มีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ยประมาณ 2 ครั้งในปี 67 นี้ ส่วนประมาณการอัตราเงินเฟ้อของปีอยู่ที่ระดับ 0.8%

“ในบริบทที่การค้าโลกมีนโยบายกีดกันการค้ายังเข้มข้นอยู่ แนวโน้มการจัดเก็บภาษีคาร์บอนจากทั่วโลก และเทคโนโลยีอย่างเอไอ ที่กำลังมีผลกระทบทั่วโลก ส่วนประเทศไทยที่กำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ มากมาย จำเป็นต้องเร่งหาเครื่องจักรใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”

นายบุรินทร์ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้มองว่ากุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนทั้งเรื่องการเป็นศูนย์กลางการผลิตอีวี ศูนย์กลางด้านดาต้า เซ็นเตอร์ หรือการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติในการลงทุนรูปแบบอื่นๆ มีกุญแจสำคัญคือ ประเทศไทยต้องมีพลังงานสะอาดเพียงพอในราคาที่เหมาะสม เพื่อดึงดูดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเชิงเศรษฐกิจสีเขียว เข้ามาเพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า สำนักวิจัยฯ ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 67 ลงเหลือ 2.3% จากเดิมมองไว้ที่ 3.1% ซึ่งจีดีพี 2.3% เป็นระดับที่ต่ำมากอีกปีหนึ่ง เกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก การบริโภคคนไทยซบเซา การลงทุนภาครัฐทรุดตัว และ การส่งออกฟื้นตัวช้า

ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะปรับลดเร็วสุดน่าจะเป็นเดือน เม.ย. จาก 2.50% เป็น 2.25% และจะลดอีกครั้ง เหลือ 2% ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยคงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เป็นเพียงการพยุงชั่วคราว เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยยังมีอยู่ เช่น ขาดการลงทุนจากต่างชาติ การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวน้อย การขาดทักษะแรงงาน สังคมสูงอายุของไทย ทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำ 3% ในระยะยาว และไม่น่าสนใจในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ จึงอยากเห็นมาตรการภาครัฐในการเร่งปรับปรุงปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ และเน้นศักยภาพของไทยโตขึ้นได้ในอนาคต