เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ปรึกษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาช้างป่า เป็นประธานมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า กรณีเสียชีวิต ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของกลุ่มป่าตะวันออก จำนวน 11 ราย โดยมี ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วย รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา คณะทำงานฯ และนายเผด็จ ลายทอง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ร่วมมอบเงิน มีนายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 กล่าวต้อนรับ พร้อมมีการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาช้างป่า ครั้งที่ 2/2567

โดยในการประชุมมีการรายงานสถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากช้างป่า (พ.ศ.2555–วันที่ 12 มี.ค. 2567 ) โดยสถิติผู้บาดเจ็บ รวม 195 คน และสถิติผู้เสียชีวิต รวม 221 คน และรายงานผลการดำเนินงานจัดสร้างคอกปรับพฤติกรรมช้างป่าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา จ.พังงา ทั้งนี้ที่ประชุมจะมีการพิจารณา เรื่อง ศูนย์ปรับพฤติกรรมช้างป่า การจัดหาแหล่งทุนในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาช้างป่า ภายใต้การดำเนินงานของคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาช้างป่า การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า โดยมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม และการจัดทำข้อตกลง (MOU) ระหว่างกรมอุทยานฯ กับมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิเทใจ

ทั้งนี้ นายสนธิรัตน์ พร้อมคณะได้เยี่ยมการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ซึ่งใช้ระบบเทคโนโลยีต่างๆ ในการติดตามและแก้ปัญหาช้างป่า โดยนายวีระพงศ์ โคระวัตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน กล่าวรายงานถึงสถานการณ์ช้างป่าในพื้นที่ว่า เขาอ่างฤาไนมีพื้นที่ในเขตติดต่อ 5 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และจันทบุรี โดยทั้งกลุ่มป่ารอยต่อ 5 จังหวัดมีช้างป่าจำนวนกว่า 600 ตัว เคยมีช้างป่าออกนอกพื้นที่สถิติสูงสุดทางด้าน จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นข่าวล่าสุดจำนวน 200 ตัว ที่สำคัญมีช้างที่ออกนอกพื้นป่าที่เราเรียกว่าช้างกระเด็น หรือช้างตัวผู้ที่ถูกขับออกจากโขลง ออกมาสร้างผลกระทบต่อประชาชนจำนวน 40-50 ตัว และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นได้ เพราะมีช้างรุ่นพี่ที่มีลักษณะเป็นหัวโจกชักนำกันออกมา ขณะที่พื้นที่บางจุดปัญหาลดลงเช่น บริเวณแก่งหางแมว จ.จันทบุรี ช้างออกนอกพื้นที่ป่าน้อยลง และชุมชนมีความเข้าใจมากขึ้นเพราะ สบอ.2 มีการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับชุมชน มีการตั้งชุดผลักดันช้างป่าจำนวน 16 ชุด รวมทั้งมีการเคลื่อนย้ายช้างที่มีปัญหาออกจากพื้นที่ มาปรับพฤติกรรมเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชน

“ปัจจัยการออกนอกพื้นที่ของช้างป่าขึ้นอยู่กับพืชอาหาร ที่ออกมากๆ ในช่วงที่ผ่านมาก็เพราะอ้อย ส่วนหน้าอื่นก็จะมีข้าว เราจะรู้เลยว่าช่วงข้าวกำลังตั้งท้องเราจะต้องเฝ้าระวังอย่างหนัก ชาวบ้านก็จะมาช่วยกัน ซึ่งช้างจะออกมามากเท่าไรนั้น ไม่สามารถรู้ได้ อย่างไรก็ตามช้างตัวผู้ที่ออกมาเดี่ยวๆ อาจจะออกมาตัวเดียว หรือชักชวนกัน 2-3 ตัว ที่ออกมารอบๆ พื้นที่ป่าตะวันออกหรือตามหย่อมป่า ตัวผู้เหล่านี้จะมีปัญหาเยอะที่สุดในเรื่องชีวิตคน ส่วนช้างที่เป็นโขลงที่มีทั้งตัวเมีย วัยรุ่น และตัวลูก อันนี้ความเสียหายมันจะเกิดขึ้นกับทรัพย์สินและพืชผลทางการเกษตรมากกว่า ดังนั้นพวกที่น่าห่วงคือช้างตัวเดียว หรือช้างกระเด็น ที่กำลังตกมัน ซึ่งค่อนข้างจะเสี่ยงต่อชีวิตคน” หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน กล่าว

ขณะที่นางแสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากประสบการณ์การติดตามการแก้ปัญหาช้างป่าของประเทศศรีลังกาที่มีช้างป่ามากกว่าไทยเกือบเท่าตัว เขามีการแก้ปัญหานี้มากว่า 30 ปี พบว่าการเคลื่อนย้ายช้างจากถิ่นอาศัยเดิม เป็นระยะทางกว่า 200 กม. ช้างสามารถกลับไปยังจุดเดิมได้ และยิ่งทำลายล้างสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านระหว่างทางหนักยิ่งกว่าเดิม ดังนั้นการเคลื่อนย้ายหรือกักกันช้าง จึงต้องมีการหาข้อสรุปและวิธีการร่วมกันว่าจะมีแนวทางที่เหมาะสมอย่างไร ซึ่งช้างตัวผู้หากย้ายออกจากพื้นที่เขาก็ต้องกลับที่เดิม เพราะตัวเมียและครอบครัวอยู่ที่นั่น ดังนั้นการสร้างแหล่งอาหารหรือหาแนวทางให้ช้างอยู่ในพื้นที่เดิมได้จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา

จากนั้นคณะได้ลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำหลังต้นน้ำภูไท ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ซึ่งมีการปลูกพืชอาหารสัตว์ป่า เพื่อรองรับและแหล่งพักของโขลงช้างป่า โดยนายสนธิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จะมีการยกระดับการแก้ไขปัญหาช้างโดยให้กรมอุทยานฯ รวบรวมมาตรการในการแก้ไขปัญหาต่างๆ นำเสนอต่อ ครม.เพื่อให้ ครม.ได้รับทราบถึงการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอของกรมอุทยานฯ ที่มีจะมีการสร้างศูนย์ปรับพฤติกรรมช้าง โดยให้กรมอุทยานฯ ดูแลในเรื่องการจัดหาสถานที่ได้ ใช้พื้นที่ 4-5 ไร่ในการสร้างคอกขนาดใหญ่เพื่อปรับพฤติกรรมช้าง โดยภาคธุรกิจสามารถที่จะมาร่วมดูแลในเรื่องของอาหาร ยา และสวัสดิภาพสัตว์ต่างๆ ได้ ส่วนเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้สิ่งที่เราเป็นห่วงที่สุดคือชีวิตคน ในขณะเดียวกันก็ห่วงชีวิตช้างด้วย ดังนั้นจึงต้องหาแนวทางในการแก้ปัญหาทั้งระบบต่อไป

ด้านนายอรรถพล กล่าวว่า ขณะนี้กรมอุทยานฯ กำลังเตรียมเสนอของบกลางในการแก้ปัญหาช้างทั้งระบบ ซึ่งคาดว่าต้องใช้งบประมาณจำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการในเรื่องการสร้าง และซ่อมคูกันช้าง การจัดตั้งชุดผลักดันช้างป่าทั้ง 16 กลุ่มป่า จำนวน 200 ชุด รวมทั้งการสร้างคอกปรับพฤติกรรมช้าง ในพื้นที่ที่มีปัญหา เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมากรมอุทยานฯ มีงบประมาณในการแก้ปัญหาช้างป่าเพียงปีละ 10 ล้านบาท โดยเป็นงบปกติ งบสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า และเงินรายได้จากกรมอุทยานฯ ซึ่งไม่พอเพียงต่อการดำเนินการทั้งระบบ ขณะที่ในเรื่องการควบคุมประชากรช้างป่า กำลังมีการศึกษาวิจัยในเรื่องการคุมกำเนิดช้าง โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งนี้การคุมกำเนิดจะนำมาใช้หรือไม่ต้องผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการวิชาการว่าสมควรใช้หรือไม่ หากจะใช้ต้องใช้ในรูปแบบใด และในพื้นที่ใด ซึ่งต้องมีการรับฟังความคิดเห็นก่อน ส่วนตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการคือความเสียหายต่อชีวิต การได้รับบาดเจ็บของประชาชน และความเสียหายต่อทรัพย์สิน พืชผลทางการเกษตร ต้องเกิดขึ้นน้อยที่สุด รวมทั้งการควบคุมประชากรช้างให้อยู่ในพื้นที่ที่ต้องการให้อยู่ และกลับคืนสู่ป่าธรรมชาติให้มากที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมอุทยานฯ ได้นำเสนอต่อที่ประชุมในเรื่องการสร้างศูนย์ปรับพฤติกรรมช้างป่า โดยใช้งบประมาณ/คอก ประมาณ 4.3 ล้านบาท เป้าหมายดำเนินการใน 3 กลุ่มป่า กลุ่มป่าละ 2 คอก ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันออก กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ รวมทั้งสิ้น 6 คอก เป็นเงินงบประมาณ 25.8 ล้านบาท ทั้งนี้ในวันที่ 15 มี.ค.นี้ กรมอุทยานฯ พร้อมด้วย สส.ระยอง พรรคก้าวไกล และสส.ฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทย ร่วมลงพื้นที่ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เพื่อคัดเลือกและเคลื่อนย้ายช้างดื้อในพื้นที่ นำมาปรับพฤติกรรมโดยเคลื่อนย้ายออกมาจากพื้นที่มาไว้ใกล้ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์เขาอ่างฤาไน

สำหรับสถานการณ์ช้างป่าปัจจุบัน ประชากรช้างป่าในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยจากการประเมินข้อมูลประชากรช้างป่า เมื่อ พ.ศ. 2554 ประเทศไทยมีประชากรช้างป่า 3,168–3,440 ตัว กระจายในพื้นที่อนุรักษ์ 69 แห่ง และศูนย์แก้ไขปัญหาช้างป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ประเมินเมื่อ พ.ศ. 2566 พบว่ามีประชากรประมาณ 4,013–4,422 ตัว กระจายในพื้นที่อนุรักษ์ 93 แห่ง โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดำเนินการตามกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาช้างป่า 6 ด้าน ตามมติคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2566 เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์โดยเร็ว

ประกอบด้วย 1.การจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของช้างป่า 2. การจัดการแนวป้องกันช้างป่า 3. การสนับสนุนชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าและเครือข่ายชุมชน 4. การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า 5. การจัดการพื้นที่รองรับช้างป่าอย่างยั่งยืน และ 6.การจัดการประชากรโดยการควบคุมประชากรช้างป่าด้วยวัคซีนคุมกำเนิด ซึ่งกรอบมาตรการที่กำหนดขึ้น จะเป็นแนวทางในการจัดการและแก้ไขปัญหาช้างป่า และการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์และการจัดการประชากรช้างป่าให้มีปริมาณที่สมดุล ลดปัญหาระหว่างคนกับช้างป่า และส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์และจัดการช้างป่าอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน

นอกจากนี้มีแนวทางปฏิบัติ 10 แนวทาง ตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า พ.ศ. 2567–2571 ใช้หลักการการจัดการครอบคลุมทุกพื้นที่และบูรณาการทุกภาคส่วน โดยกรอบแนวทางบางส่วนได้รับการอนุมัติเห็นชอบจากคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง โดยมีมาตรการที่สำคัญ ดังนี้ 1.แนวทางปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน 2.แนวทางปฏิบัติการจัดการพื้นที่รองรับและจัดการช้างป่าที่มีปัญหาอย่างยั่งยืน 3.แนวทางปฏิบัติการยกระดับมาตรฐานการป้องกัน เฝ้าระวัง และแจ้งเตือน

4.แนวทางปฏิบัติการการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่า 5.แนวทางปฏิบัติการสร้างความรู้ และความตระหนักรู้ให้ชุมชนในพื้นที่ 6.แนวทางปฏิบัติด้านการศึกษาวิจัย การพัฒนา นวัตกรรมและเทคโนโลยี 7.แนวทางปฏิบัติการควบคุมประชากรช้างป่า 8.แนวทางปฏิบัติการจัดการพื้นที่ถิ่นอาศัยของช้างป่า 9.แนวทางปฏิบัติการสร้างความร่วมมือและบูรณาการร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน 10.แนวทางปฏิบัติการสร้างทางเลือกและการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับชุมชน.