เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมขับเคลื่อนแผนการยกระดับผลการประเมินจากโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) กลุ่มผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ Zoom Meeting พร้อมด้วย นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) บรรยายพิเศษแก่ผู้เข้าร่วมประชุม และรับฟังการนำเสนอแผนการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA จากผู้อำนวยการ สพม. ทั่วประเทศ โดยมี นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา รักษาการที่ปรึกษา สพฐ. นายภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยพัฒนาคุณภาพการศึกษา นายชนาธิป ทุ้ยแป ผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางศึกษา รวมถึงผู้อำนวยการ สพม. จำนวน 50 คน รองผอ. สพท จำนวน 9 คน ศึกษานิเทศก์ กว่า 120 คน และนักวิชาการศึกษาและบุคลากรของ สพฐ. จาก 5 สำนัก ได้แก่ สทศ. สวก. สบว. สบม. ศนฐ. เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้

เป็นการประชุมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจบทบาท หน้าที่ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในการส่งเสริมสนับสนุนสถานศึกษาให้พร้อมรับการประเมิน PISA 2025 รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจแผนการดำเนินงานยกระดับผลการประเมินจากโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้นำเสนอแนวทางการขับเคลื่อน PISA 2025 ต่อที่ประชุม
.
โอกาสนี้ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวเปิดการประชุมและมอบนโยบาย การยกระดับผลประเมิน PISA เป็นเรื่องที่พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญและเน้นย้ำให้ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งการยกระดับผลประเมิน PISA นั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งส่วนกลางและเขตพื้นที่ ในการร่วมกันวางแผนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและผลประเมิน PISA 2025 ให้สูงขึ้น โดยต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้อำนวยการสถานศึกษาและครูให้มีความตระหนักถึงความสำคัญของการยกระดับผลประเมิน PISA 2025 และขับเคลื่อนตามแผนขับเคลื่อนฯ อย่างจริงจัง ทั้งการจัดการเรียนการสอนให้เด็กฝึกคิดวิเคราะห์เพื่อพัฒนาความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ด้านวิทยาศาสตร์ และด้านคณิตศาสตร์ รวมถึงสนับสนุนให้ผู้เรียนมีความเชี่ยวชาญในการทำข้อสอบตามแนว PISA ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และควรสร้างจิตสำนึกให้ผู้เรียนว่าพวกเขาเป็นตัวแทนของประเทศไทย ซึ่งผลจากการประเมินจะเป็นข้อมูลชี้วัดคุณภาพการจัดการศึกษาของประเทศเราเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ
.
ทางด้าน นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ขอให้ ผอ.เขตพื้นที่ร่วมผนึกกำลังยกระดับมาตรฐานการศึกษาทั้งประเทศ และเตรียมความพร้อมในการประเมิน PISA 2025 ขับเคลื่อนดำเนินกิจกรรมตามแผนที่กำหนดไว้อย่างเข้มแข็ง อีกทั้งการบูรณาการความร่วมมือต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจจาก สพม. ที่มีโรงเรียนที่มีผล PISA 2022 มากกว่าค่าเฉลี่ย OECD เพื่อช่วยเหลือทั้งโรงเรียนเครือข่าย และโรงเรียนขยายโอกาสที่มีผู้เรียนกลุ่มเป้าหมาย PISA 2025 เพื่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งประเทศ ขณะที่ ผอ.สพม. ศึกษานิเทศก์ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องเข้าใจข้อสอบตามแนว PISA ทั้งรูปแบบและรายละเอียดผลการประเมิน จึงจะสามารถดำเนินการวิเคราะห์จุดแข็ง/จุดอ่อน ระดับเขต ระดับสถานศึกษา และระดับผู้เรียนได้ เพื่อใช้ความรู้ความเข้าใจในการวางแผนส่งเสริมจุดแข็งและแก้ไขจุดอ่อนต่อไป
.
“อีกส่วนที่สำคัญ คือ ทางเขตพื้นที่ต้องมีข้อมูลผู้เรียนที่ถูกสุ่มในการสอบ PISA 2025 และการจัดการเรียนรู้ต้องสอนให้ผู้เรียนรักการอ่าน จับประเด็น สามารถคิดวิเคราะห์ได้ บูรณาการความรู้และนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งตัวชี้วัดนี้ได้ถูกกำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ปรับปรุง พ.ศ. 2560) อยู่แล้ว หากผู้เรียนมีสมรรถนะตามหลักสูตรฯ ก็จะส่งผลให้การประเมิน PISA อยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ ต้องขอชื่นชม ผอ.เขตพื้นที่มัธยมศึกษาทุกท่าน ที่นำเสนอได้อย่างน่าสนใจ และเห็นถึงแนวทางการขับเคลื่อนที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ขอบคุณผอ.เขตพื้นที่ และศึกษานิเทศก์ ในการร่วมสร้างพลังในการขับเคลื่อนในครั้งนี้ อีกทั้งยังเห็นถึงการนำนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ รมว.ศธ. และนโยบายและจุดเน้นของ สพฐ. ลงสู่การปฏิบัติอย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว