วันที่ 15 มี.ค. นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.82 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.62 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.65-35.95 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 35.60-35.82 บาทต่อดอลลาร์) ตามการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ หลังรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI รวมถึงยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า เฟดอาจยิ่งไม่รีบปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย สะท้อนจากการทยอยปรับลดโอกาสเฟดปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน เหลือ 63% (จากเกือบ 75% ในสัปดาห์ก่อนหน้า)

นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 สหรัฐ ยังได้กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลงแรง สู่โซนแนวรับระยะสั้นอีกครั้บ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะปรับตัวลง ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวขึ้นแรง จากการที่ IEA ปรับคาดการณ์แนวโน้มอุปสงค์น้ำมันที่สูงขึ้น พร้อมปรับลดอุปทานน้ำมันจากคาดการณ์ก่อนหน้า ทำให้มีผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็ทยอยเข้าซื้อน้ำมันดิบเพิ่มเติม ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำและน้ำมันดิบก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่า

ตลาดหุ้นสหรัฐ ยังคงเผชิญแรงขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ ธีม AI ที่ปรับตัวได้ดีในช่วงที่ผ่านมา อาทิ Nvidia -3.2% หลังผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลว่าเฟดอาจชะลอการลดดอกเบี้ยลงได้ จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด ทั้ง ดัชนี PPI และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานที่ออกมาดีกว่าคาด ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐ ยังพอได้แรงหนุนจากการหุ้นกลุ่มพลังงาน นำโดย Exxon Mobil +1.8% ตามการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.29%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อลง -0.18% กดดันโดยแรงขายหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ อาทิ Rio Tinto -1.3% ตามการปรับตัวลดลงของราคาแร่โลหะที่ถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ส่วนหุ้นเทคฯ ธีม AI บางส่วนก็ปรับตัวลงแรง เช่น Infineon Tech. -2.7% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นในธีมการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน อาทิ บรรดาหุ้นสินค้าแบรนด์เนม เช่น Hermes +1.5%

ในฝั่งตลาดบอนด์ แนวโน้มการชะลอตัวลงช้าของอัตราเงินเฟ้อ จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ล่าสุด ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า เฟดอาจเริ่มลดดอกเบี้ยได้ช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ (โอกาสในการลดดอกเบี้ยเดือนมิถุนายน ถูกปรับลดลงมากขึ้น) ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ ปรับตัวขึ้นมากกว่า +10bps เข้าใกล้ระดับ 4.30% อีกครั้ง สอดคล้องกับคำเตือนของเราก่อนหน้าที่ให้ระมัดระวัง ความเสี่ยงบอนด์ยีลด์สหรัฐ ปรับตัวสูงขึ้น หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ยังคงออกมาสดใสและดีกว่าคาด

ทั้งนี้ ระดับของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ ล่าสุด ถือว่ามีความน่าสนใจมากขึ้น (เหนือระดับ 4.20%) ทำให้เรามองว่า Risk-Reward มีความน่าสนใจ อีกทั้ง ระดับบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ แถว 4.30% ก็ได้สะท้อนแนวโน้มการลดดอกเบี้ย 3 ครั้งของเฟดในปีนี้ไปแล้ว ดังนั้น นักลงทุนก็สามารถทยอยเข้าซื้อ Buy on Dip บอนด์ 10 ปี สหรัฐ ได้

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ ก็ยิ่งกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ผันผวนอ่อนค่าลงหนัก และยิ่งช่วยให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น นอกเหนือจากแรงหนุนจากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.8-103.5 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ จากความกังวลแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดที่อาจเกิดขึ้นช้ากว่าคาด ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ปรับตัวลงต่อเนื่อง สู่โซนแนวรับ 2,160 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยเข้าซื้อทองคำในโซนดังกล่าว และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาคาดการณ์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาว จากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดังกล่าวเช่นกัน

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานครั้งแรกของผลการเจรจาต่อรองค่าจ้าง (Shunto) ของญี่ปุ่น ว่าจะเห็นการปรับขึ้นค่าจ้างที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ตามที่ตลาดคาดหวังหรือไม่ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดได้คาดหวังว่า ค่าจ้างจะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นพอสมควร จนทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจทยอยปรับใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ตั้งแต่การประชุมเดือนมีนาคมนี้ (สัปดาห์หน้า) ซึ่งมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดก็ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมา เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ได้พลิกกลับมาแข็งค่า เร็วและแรงพอสมควร ก่อนที่จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ดีกว่าคาด

ขณะที่ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทเสี่ยงที่จะผันผวนอ่อนค่าลง ตามโมเมนตัมการอ่อนค่าที่เพิ่มกำลังมากขึ้น สอดคล้องกับการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ยังได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งยังคงสดใสและดีกว่าคาด ขณะเดียวกัน สัญญาณเชิงเทคนิคัลก็เริ่มสะท้อนโอกาสที่เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ (กราฟเงินบาทอาจเกิด Doji Morning Star pattern ไม่น่ามานี้ ส่วน RSI, MACD ก็เริ่มมีแนวโน้ม Bullish มากขึ้นสำหรับ USDTHB ใน Time Frame Daily)

ซึ่งหากเงินบาทเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ทองคำและน้ำมันดิบ รวมถึงแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ ก็อาจกดดันให้ เงินบาทผันผวนอ่อนค่าทดสอบแนวต้านสำคัญและเป็นแนวต้านเชิงจิตวิทยาแถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจถูกชะลอลงบ้าง จากโฟลว์ขายเงินดอลลาร์ของบรรดาผู้ส่งออก ที่ต่างรอจังหวะให้เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลง

อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า การกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนั้น ก็อาจยังคงจำกัด เนื่องจากเงินบาทยังขาดปัจจัยหนุนการแข็งค่าที่ชัดเจน ทำให้เงินบาทอาจติดอยู่ในโซนแนวรับแถว 35.70 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับสำคัญถัดไป 35.50 บาทต่อดอลลาร์)

นอกจากนี้ ควรระวังความผันผวนของเงินบาทจากการเคลื่อนไหวของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ในวันนี้ ที่อาจผันผวนไปตามผลการเจรจาต่อรองค่าจ้าง Shunto และการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของ BOJ ส่วนในช่วงกลางคืนราว 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ก็ควรระวังความผันผวนของตลาดในช่วงผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ

ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง