เมื่อวันที่ 15 มี.ค. เวลา 10.30 น. ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ร่วมรับฟังการแถลงข่าวความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินเงินกู้แก่บุคลากรภาครัฐ ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการแถลง ขณะที่มีรัฐมนตรีบางส่วนมาร่วมรับฟังการแถลงข่าวด้วย อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย

โดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย กล่าวรายงานว่า ภาพรวมปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย มีมูลหนี้เป็นจำนวนรวมประมาณ 16 ล้านล้านบาท ซึ่งมีทั้งหนี้สินบ้าน เช่าซื้อรถยนต์ หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ สินเชื่อการเกษตร สินเชื่อเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี (โอดี) ขณะที่หนี้สินเงินกู้สวัสดิการบุคลากรภาครัฐเป็นก้อนหนี้ขนาดใหญ่ และมีความสำคัญ แต่ส่วนใหญ่ไม่ปรากฏอยู่ในรายงานยอดหนี้ของศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ทั้งนี้ จากจำนวนบุคลากรภาครัฐทั้งหมดประมาณ 3.1 ล้านคนนั้น มี 2.8 ล้านคนเป็นลูกหนี้เงินกู้ในสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ 1,378 แห่ง และมีธนาคารที่ให้สินเชื่อในลักษณะสวัสดิการอย่างน้อย 3 แห่ง คิดเป็นมูลหนี้รวมกว่า 3 ล้านล้านบาท และพบว่ามีบุคลากรภาครัฐจำนวนมากที่มีรายได้สุทธิหลังการหักชำระหนี้และเงินค่างวดรายเดือนแล้ว มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ อีกทั้งกรณีของบุคลากรภาครัฐที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีหนี้สินกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นปัญหารุนแรงต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน

ด้าน พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินของบุคลากรของกระทรวงกลาโหม มีทั้งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยสหกรณ์ออมทรัพย์ต่ำกว่าสถาบันการเงิน การอบรมให้ความรู้เรื่องการเงินและการทำบัญชีครัวเรือน การทำข้อตกลงกับสถาบันการเงินเพื่อแบ่งเบาภาระดอกเบี้ย และการเจรจาประนอมหนี้ อีกทั้งได้จัดทำโครงการเพื่อเสริมสร้างรายได้แก่ข้าราชการทหารและครอบครัว ควบคู่กับการแก้ปัญหาหนี้สิน และการเพิ่มรายได้ให้ครอบครัวทหารชั้นผู้น้อย นอกจากนี้ ยังดำเนินการเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย โดยที่ประชุมสภากลาโหมเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2566 ได้มีมติแก้ไขมติสภากลาโหมเดิมที่เคยกำหนดให้ข้าราชการของกระทรวงฯ ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องถูกปลดออกจากราชการทันที แก้ไขเป็นปลดออกจากราชการกรณีต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลายทุจริตเท่านั้น เพื่อรักษากำลังพลที่ปฏิบัติราชการด้วยความตั้งใจ แต่อาจมีความผิดพลาดทางการเงินโดยไม่ได้ทุจริต และไม่เป็นการซ้ำเติมบุคลากรที่ถูกศาลพิพากษาล้มละลาย นอกจากนี้ ผู้บังคับบัญชาต้องเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยให้กำลังพลด้วย

ด้าน พล.อ.สวราชย์ แสงผล หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา กองบัญชาการกองทัพบก กล่าวว่า  กองทัพบกมีการช่วยกำลังพลแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างต่อเนื่อง และให้ความรู้ด้านการเงินแก่กำลังพล แต่ยังพบว่ามีปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงจากสถาบันการเงินต่างๆ ไม่สามารถทำให้กำลังพลปลดหนี้สินได้ กองทัพบกจึงขอให้รัฐบาลปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้กับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมและเป็นธรรม นอกจากนี้ กำลังพลจำนวนหนึ่งมีหนี้สินค้างมาจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ตั้งแต่ก่อนเข้ามารับข้าราชการ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ กยศ.ที่ทำให้ต้องเสียดอกเบี้ย 18 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้หนี้สินเพิ่มพูน และเรื้อรังเป็นระยะยาว จึงขอให้รัฐบาลบังคับใช้อัตราดอกเบี้ยกรณีของผู้ผิดนัดชำระหนี้ 0.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวกับ กยศ.ฉบับใหม่

ขณะที่ พล.อ.อนุสรรค์ คุ้มอักษร รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวว่า ปัญหาหนี้สินของกำลังพลส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อสวัสดิการ และมีการหักเงินจากเงินเดือนเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำไปชําระหนี้ ทั้งหนี้สหกรณ์และหนี้ของสถาบันการเงิน อีกทั้งพบว่ามีกําลังพลจํานวนมากที่มีเงินเดือนเหลือต่ำกว่า 3,000 บาทต่อเดือน ดังนั้น เป้าหมายสําคัญคือการช่วยเหลือกําลังพลที่ได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เหลือเงินดํารงชีพไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินเดือนทั้งหมด กองทัพตระหนักดีว่าปัญหาหนี้สินเป็นเรื่องเร่งด่วนของชาติ เราจึงต้องกําหนดระเบียบหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนโดยให้กำลังพลมีเงินคงเหลือ ไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสภากลาโหมจะนําเรื่องนี้เข้าที่ประชุมต่อไป ระเบียบดังกล่าวจะสร้างเกราะในการกู้ยืมเงินที่ถูกต้อง ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นธรรม มีเสถียรภาพ เพื่อไม่ให้ข้าราชการไปกู้ยืมเงินนอกระบบ หรือใช้เงินกู้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงมาก ช่วยเพิ่มเงินในการดํารงชีพ และใช้จ่ายในครอบครัว และหากทำได้สัมฤทธิผล จะทําให้กําลังพลหลุดพ้นจากสถานการณ์ดังกล่าว เกิน 100,000 ราย

ด้าน พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า กองทัพเรือมีข้าราชการประมาณ 40,000 คน ซึ่งมีผู้ที่รับเงินเดือนสุทธิไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 10,000 คน ทั้งนี้ กองทัพเรือได้มีมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน 2 ลักษณะ คือ 1.มาตรการเชิงป้องกัน และ 2.มาตรการเชิงแก้ไขหนี้สิน สำหรับมาตรการเชิงป้องกันจะเน้นการให้ความรู้การบริหารการเงิน การส่งเสริมการออมเงินให้แก่นักเรียนทหาร กำลังพลที่ได้รับการบรรจุใหม่ รวมถึงกำลังพลทั่วไป เพื่อให้กำลังพลมีความรู้ มีภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิต รวมทั้งกองทัพเรือยังดำเนินการโครงการ “ลดรายจ่ายสร้างรายได้” โดยการจัดหาที่พักให้กับกำลังพลที่บรรจุใหม่ จัดสินค้าอุปโภคบริโภคจำหน่ายในราคาประหยัด การเพิ่มอาชีพให้กับกำลังพลและครอบครัว อีกทั้งกองทัพเรือร่วมกับธนาคารกรุงไทย ธนาคารทหารไทยธนชาต และธนาคารออมสิน โดยใช้กลไกสหกรณ์ภายในกองทัพเรือ ดำเนินโครงการ “ช่วยปลด ลดภาระหนี้ ให้กำลังพล” เพื่อประนอมหนี้และมีการเจรจาเจ้าหนี้ เพื่องดชำระหนี้หากชำระเงินต้นทั้งหมดแล้ว การเจรจารวมหนี้ไว้ในที่เดียวกัน และการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระออกไปเป็น 240 งวด มีกำลังพลเข้าร่วมโครงการ 315 นาย แก้ไขปัญหาหนี้ได้แล้ว 84 ราย ยอดหนี้ของข้าราชการลดลงไปกว่า 15 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการที่เหลือต่อไป

ด้าน พล.อ.อ.ณรงค์ อินทชาติ รองผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวว่า กองทัพอากาศพบว่ามีข้าราชการที่รับเงินเดือนต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 8,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่ถูกอายัดเงินเดือน 53 ราย โดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินกำลังพลกองทัพอากาศได้ส่งรายชื่อข้าราชการให้แก่หัวหน้าหน่วยขึ้นตรง ดำเนินการตรวจสอบภาระหนี้สินที่มีอยู่ทั้งหมดทั้งในระบบและนอกระบบ และนำข้อมูลทั้งหมดเข้าพิจารณาในคณะกรรมการฯ เพื่อหาทางแก้ปัญหาหนี้สินของกำลังพลให้ลดลงและหมดไป โดยประสานสถาบันการเงินเพื่อจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย อีกทั้ง ทอ.ได้จัดการฝึกอบรมปลูกจิตสำนึกด้านการเงินให้แก่ข้าราชการ ทอ.ทุกระดับ เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและทำให้พวกเขาหลุดจากวงจรหนี้สินทั้งในและนอกระบบ จึงต้องขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วย

ขณะที่ พล.ต.ท.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ ผู้บัญชาการ สำนักงานกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กล่าวว่า ข้าราชการตำรวจ 200,000 คน มีผู้ที่มีหนี้สิน 150,000 คน รวมมีมูลหนี้สินกว่า 170 ล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้ระดับสีเขียวที่พอชำระได้ 140,000 คน สีเหลืองผ่อนได้บ้างไม่ได้บ้าง จำนวน 600 คน และสีแดง ถูกฟ้องร้อง ไม่มีกำลังชำระหนี้ ประมาณ 150 คน ซึ่งที่ผ่านมามีคนเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ 10,000 กว่าคน และแก้ปัญหาหนี้สินได้แล้ว 7,000 กว่าคน รวมเป็นเงิน 10 กว่าล้านบาท เหลือประมาณ 140 กว่ารายที่ยังต้องดำเนินการอยู่ รวมมูลหนี้ 400 กว่าล้านบาท  ส่วนในอนาคต ตร.จะให้ความรู้เพื่อไม่ให้มีหนี้รวมถึงแก้หนี้ เช่น เจรจากับสหกรณ์ตำรวจ 30 กว่าแห่งให้มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 4.75  เป็นไปตามแนวทางที่รัฐบาลขอความร่วมมือไป

ด้าน ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า บุคลากรของ สพฐ.ทั้งหมดมีประมาณ 450,000 คน ซึ่งมีผู้เป็นหนี้ 400,000 คน ขณะที่ รมว.ศึกษาธิการ และสพฐ.ได้จัดทำสถานีแก้หนี้ 245 เขตพื้นที่การศึกษา มีครูลงทะเบียนเข้าโครงการแก้ไขหนี้สิน รอบแรก 6,251 คน ดำเนินการแก้หนี้สินของผู้ที่ถูกฟ้องร้องแล้ว 1,000 คน ซึ่ง สพฐ.จะดำเนินการโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง และหลังจากนี้จะพัฒนาให้ความรู้ทักษะด้านการเงินแก่บุคลากรด้วย

ขณะที่ นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของนายกรัฐมนตรี ในการช่วยเหลือข้าราชการลดภาระหนี้อย่างยั่งยืน เพิ่มความสามารถในการดำรงชีพ ธนาคารกรุงไทยได้นำเสนอมาตรการรวมหนี้อย่างยั่งยืน อัตราดอกเบี้ยพิเศษคงที่ตลอดอายุสัญญา และลดอัตราผ่อนชำระให้มีความเหมาะสมกับการดำรงชีพ โดยได้ขยายเวลาผ่อนชำระอย่างต่อเนื่อง ได้ยาวสุดถึง 80 ปี ให้กับกลุ่มข้าราชการกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้สินเชื่อโอดี ที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์  และก่อให้เกิดภาระหนี้เรื้อรัง เกินความสามารถในการผ่อนชำระ รวมไปจนถึงการสนับสนุนให้ความรู้เรื่องวินัยการเงินแก่ข้าราชการ และเราตระหนักถึงข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของระบบ คือ 1. หนี้ที่อยู่ในระบบ NCB เพียง 147 สถาบันการเงิน และมีเพียงสหกรณ์ไม่กี่ราย ครอบคลุมจำนวน 33 ล้านคน จำนวนบัญชี 127 ล้านบัญชี  2. บุริมสิทธิของหนี้สหกรณ์  และการลำดับการตัดชำระหนี้ของสถาบันการเงิน แม้จะอยู่ภายใต้กรอบสวัสดิการขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่มีเอ็มโอยู 3.การก่อหนี้เพิ่มที่ผ่านมา สามารถเห็นได้เฉพาะหนี้ที่อยู่ในระบบ ดังนั้นการดำรงไว้ซึ่งหลักการ 70 : 30 จะสามารถดำเนินการได้เฉพาะหนี้ที่อยู่ในระบบ การมีกลไกที่มีข้อมูลที่อัปเดตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นข้อจำกัดอีกหนึ่งข้อต้องก้าวผ่าน

นายผยง กล่าวอีกว่า ธนาคารฯ วางกำหนดไว้ 50,000 ล้านบาทในโครงการเพื่อการแก้ไขหนี้สินข้าราชการ คาดว่าจะช่วยข้าราชการได้ 50,000 คน  โดยที่กรอบของการเข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย กลุ่มเปราะบางที่มีภาระหนี้มาก จนไม่สามารถดำรงชีพขั้นพื้นฐานได้ และมีเงินเดือนเหลือน้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละเดือน ปิดหนี้และรวมหนี้จากทุกสถาบันการเงิน  รวมถึงการรวมหนี้ และการร่วมมือแบบ  Co- Exit กับสหกรณ์  เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การลดภาระหนี้อย่างยั่งยืน ให้มีเงินเหลือเกิน 30 เปอร์เซ็นต์ ตลอดช่วงวัย โดยที่สามารถยังชีพได้ โดยไม่พึ่งหนี้นอกระบบ  แสดงเจตนารมณ์ไม่ก่อหนี้เพิ่มตลอดการเข้าร่วมโครงการ รวมสิทธิบำเหน็จบำนาญตกทอด เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงแหล่งการชำระหนี้ได้ย่างต่อเนื่อง หลังการเกษียณอายุราชการ ซึ่งการรวมหนี้ทุกประเภทจะทำให้ข้าราชการได้ประโยชน์จากการลดภาระดอกเบี้ยในระดมที่เหมาะสมอย่างมีนัยสำคัญ ผ่อนชำระได้เหมาะสมกับรายได้ที่มี โดยสามารถผ่อนแบบ CO-Exit ร่วมกับสหกรณ์  มีเงินดำรงชีพอย่างเหมาะสม โดยไม่ต้องพึ่งหนี้นอกระบบ ปัจจุบันได้หารือกับ กองทัพบก กระทรวงการคลัง  สหกรณ์กรมป่าไม้ สหกรณ์ครูขอนแก่น  สหกรณ์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ และอยู่ระหว่างการหารือกับกองทัพเรือ กองทัพอากาศ และตร. พร้อมกันนี้มีวงเงินสนับสนุนสหกรณ์ เกือบ 140,000 ล้านบาท  มียอดค้างชำระ 40,000 ล้านบาท

ด้าน นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า ธนาคารออมสินเร่งการแก้ไขหนี้ข้าราชการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยมีโครงการหลักๆ เช่น การลดดอกเบี้ยให้ข้าราชการที่ติดขัดการจ่ายดอกเบี้ยหรือมีประวัติการชำระหนี้ดีโดยลดดอกเบี้ยไปแล้ว 367,189 ราย เป็นมูลหนี้ 294,229 ล้านบาทหรือเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ของสินเชื่อข้าราชการทั้งหมด ใช้เงินในการลดดอกเบี้ยประมาณ 3,000 ล้านบาท นอกจากนี้ข้าราชการที่เป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ไม่สามารถชำระหนี้ได้แล้วธนาคารออมสินได้ดำเนินโครงการ 4 ไม่คือไม่ฟ้องดำเนินคดี  ไม่ฟ้องล้มละลาย ไม่ยึดทรัพย์ และไม่ขายทอดตลาด โดยโครงการนี้จะหมดอายุในวันที่ 31 มี.ค.นี้แล้วจะมีการประเมินผลอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้เร็ว และธนาคารก็จะมีการลดดอกเบี้ยให้ โดยมีข้าราชการที่ได้ประโยชน์ทั้งสิ้น 24,822 ราย เป็นวงเงิน 8,335 ล้านบาท นอกจากนี้ธนาคารฯ ยังให้สินเชื่อกับสหกรณ์เพื่อให้ข้าราชการไปรีไฟแนนซ์หนี้ดอกเบี้ยสูง เป็นดอกเบี้ยต่ำ โดยมีสหกรณ์ที่เข้าโครงการแล้ว 94 แห่ง เป็นวงเงินทั้งสิ้น 3,227 ล้านบาท และมีสหกรณ์ที่รอเข้าโครงการอีก 25 แห่ง รวมเป็นเงินประมาณ 2,500–3,000 ล้านบาท ซึ่งรวมแล้วจะมีวงเงินสำหรับสินเชื่อนี้ประมาณ 6,000 ล้านบาท อีกทั้งได้ทำโครงการอื่นๆ เช่น เพิ่มการฝึกอาชีพข้าราชการ การปรับโครงสร้างหนี้ที่อยู่อาศัยข้าราชการ เป็นต้น

จากนั้น นายกรัฐมนตรี  กล่าวภายหลังการรับฟังแถลงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้เงินกู้แก่บุคลากรของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ว่า ขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชื่นชมในการตั้งใจทำงาน ส่วนตัวเชื่อว่า หลายคนอาจจะไม่ได้ประสบปัญหาเยอะแบบเดียวกับข้าราชการอีกหลายแสนคน ซึ่งข้าราชการเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติ แต่ยังมีหนี้สินชักหน้าไม่ถึงหลัง ทำงานเท่าไหร่ก็ไม่พอใช้ดอกเบี้ย ถือเป็นสารตั้งต้นหายนะของประเทศ ต้องขอใช้คำนี้เพราะไม่ใช่แค่เพียงมีเงินไม่พอ แต่หันไปพึ่งสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด เพื่อทำให้จิตใจดีขึ้น สบายใจขึ้นถือเป็นความเข้าใจผิด หรือไปทุจริตประพฤติมิชอบ เป็นสารตั้งต้นที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นการรวมตัวกันในวันนี้ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขกฎหมาย ว่าไม่ต้องออกจากราชการ มีเงินใช้ 30% รวมถึงสินเชื่อพิเศษ ลดดอกเบี้ย ซึ่งตนเข้าใจว่าหลายหน่วยงานต้องหวังเรื่องการปันผลหรือผลกำไร แม้ว่าแบงก์ชาติจะไม่ลดแต่หน่วยงานช่วยกันลดก็ขอขอบคุณจากใจจริง และเชื่อว่าข้าราชการในหน่วยงานนั้นๆ ก็ขอบคุณเช่นเดียวกัน

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า  เข้าใจว่าแต่ละหน่วยงานก็มีเป้าหมายของตัวเอง การที่ต้องเฉือนเนื้อเพื่อลดกำไร ถือเป็นเรื่องที่ดี และขอฝากข้อคิด ว่าต้องการให้หน่วยงานสหกรณ์เข้ามาร่วมโครงการนี้ให้มากขึ้นและขอให้ทำงานหนักขึ้น เชื้อเชิญให้เข้ามาอยู่ในระบบให้มากขึ้นเพราะทุกวันนี้หนี้สินเหล่านี้ไม่ได้ลดลงไป แต่เชื่อว่าทุกคนที่อยู่ตรงนี้มีขีดจำกัดในการทำงานพอสมควรเพราะเป็นผู้บริหารระดับสูงจึงจะต้องหาวิธีการในการแก้ปัญหา จึงขอให้ทะเยอทะยานมากขึ้น พยายามช่วยเหลือประชาชนให้มากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งก็เชื่อว่าผู้นำเหล่าทัพมีความใกล้ชิด และเข้าใจความลำบากของประชาชนอยู่แล้ว