เมื่อวันที่ 15 มี.ค. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยล่องเรือตามแนวคลองเปรมประชากรจากท่าเรือชั่วคราวใต้สะพานข้ามแยกบางซื่อ ไปยังท่าเรือบริเวณชุมชนประชาร่วมใจ 1 (หลังวัดเสมียนนารี) และได้พบปะเยี่ยมเยียนชาวชุมชน มอบเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ก่อนล่องเรือต่อไปยังท่าเรือชั่วคราว สวนหย่อม ปตท. บริเวณหลักสี่ จากนั้นเดินทางด้วยรถยนต์ไปตรวจเยี่ยมโครงการบ้านมั่นคงสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงชุมชนวัดรังสิต จำกัด (ระยะที่ 2) ตำบลหลักหก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี โดยมี นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เลขานุการ รมว.พม. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. นายกฤษดา สมประสงค์ ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ผอ.เขตจตุจักร และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่

นายวราวุธ กล่าวว่า รัฐบาลมีแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร พ.ศ. 2562-2570 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วม และบำบัดน้ำเสียในคลองเปรมประชากรทั้งระบบ ความยาว 50.8 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบัน มีบ้านเรือนชุมชนปลูกสร้างรุกล้ำตลอดแนวคลอง ตั้งแต่เขตจตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง ไปจนถึงจังหวัดปทุมธานี ทั้งหมด 38 ชุมชน 6,386 ครัวเรือน ส่งผลกระทบต่อการรับน้ำ และระบายน้ำจากทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ โดยมีแผนงานหลักระยะเร่งด่วน ปี 2562-2565 จำนวน 4 โครงการหลัก อาทิ การก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองเปรมประชากรตลอดสาย ส่วนบ้านเรือนที่สร้างรุกล้ำลำคลอง อยู่บนที่ดินราชพัสดุ ส่วนใหญ่สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม โดยรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวง พม. โดย พอช. ภายใต้การก่อสร้างบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองเปรมประชากร ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว 17 ชุมชน 1,699 ครัวเรือน สามารถเข้าอยู่อาศัยแล้ว 1,197 ครัวเรือน ส่วนชุมชนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ชุมชนริมคลองเปรมประชากรทั้ง 38 ชุมชน สามารถอยู่อาศัยในชุมชนเดิมได้ทั้งหมด และสร้างบ้านใหม่ริมฝั่งคลอง เพื่อให้พ้นแนวคลองและแนวก่อสร้างเขื่อน อีกทั้งทำสัญญาเช่าที่ดินระยะยาว (30 ปี) กับกรมธนารักษ์ เพื่อเปลี่ยนสถานะจาก “ผู้บุกรุกเป็นเช่าที่ดินอยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมาย”

นายวราวุธ กล่าวว่า วันนี้มีการปรับปรุงพื้นที่และแก้ไขปัญหาเรื่องการรุกล้ำลำคลองเปรมประชากร ซึ่งเป็นหนึ่งในคลองหลักที่ต้องใช้ในการระบายน้ำ และการรักษาระบบนิเวศ จากการโยกย้ายพี่น้องประชาชนที่อาศัยรุกล้ำลำคลองกลับขึ้นไปอยู่สองฝั่งตลิ่งนั้น ทาง พอช. ได้ทำงานร่วมกันกับพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ มีการตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อทำงานร่วมกัน มีการดูแลและพัฒนา ซึ่ง พอช. มีหน้าที่ในการหางบประมาณมาสนับสนุนพี่น้องประชาชนในการสร้างที่พักอาศัยใหม่ ที่สามารถเชิดหน้าชูตาของกรุงเทพมหานครได้ ชุมชนประชาร่วมใจ 1 เราได้เห็นความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องประชาชนที่ช่วยกันรักษาความสะอาด รักษาชุมชนให้สวยสดงดงาม และพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน

นายวราวุธ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งกระทู้ถามตนในสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับสถานการณ์ของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน รวมถึงพี่น้องกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ ซึ่งเราได้มีการสนับสนุน การเยียวยาดูแลพี่น้องคนพิการ รวมถึงถ้าหากชุมชนใดที่มีพี่น้องคนพิการ ไม่มีรายได้ ไม่สามารถดูแลตัวเองได้นั้น ทาง พอช. จะมีงบประมาณในการสร้างบ้านกลางให้กับพี่น้องกลุ่มนี้ โดยที่ชุมชนต้องทำความตกลงกันที่จะช่วยกันดูแลค่าใช้จ่ายส่วนกลางต่างๆ ถือว่าเป็นการร่วมมือกันของชุมชน ทั้งภาครัฐและพี่น้องประชาชนในการสร้างสภาพแวดล้อมสังคมให้มีคุณภาพและน่าอยู่มากยิ่งขึ้น

นายวราวุธ กล่าวว่า ชุมชนประชาร่วมใจ 1 เป็นหนึ่งในชุมชนต้นแบบ ที่มีการวางแผนจะดำเนินการให้ตลอดทั้งสองฝั่งคลองเปรมประชากร รวม 38 ชุมชน ซึ่งแต่ละชุมชนจะมีความละเอียดอ่อน และมีปัญหาที่แตกต่างกันไป แต่เราเน้นย้ำในการทำงานร่วมกันของพี่น้องในชุมชน และหน่วยงานราชการ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วชุมชนจะเกิดได้ เงินส่วนหนึ่งจากหน่วยงานราชการ และอีกส่วนหนึ่งจากพี่น้องประชาชนที่เป็นการผ่อนชำระ แล้วมาช่วยกันเพื่อทำให้ชุมชนและสังคมของเรามีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และอีกหลายพื้นที่ที่ทาง พอช. กำลังดำเนินการเจรจากับพี่น้องประชาชนอยู่ โดยบางพื้นที่กำลังทำเรื่องขออนุญาตใช้ที่ดิน แต่ว่าท้ายที่สุดแล้วชุมชนต้นแบบเราจะขยายให้ครบทั้ง 38 ชุมชน ตลอดริมฝั่งคลองเปรมประชากร