เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 67 นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายชนม์ฐพัฒน์ เครือศรี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานเชียงใหม่ นายนวพล อาชญาทา หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 5 โครงการชลประทานเชียงใหม่ นายสุวรรณ เทพคุณ ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ออน และนายวรพันธุ์ กันติสิงห์สกุล หัวหน้าเหมืองฝายเบอร์ 8 ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ออน และเส้นทางการส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่การเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ โดยตรวจสอบอ่างเก็บน้ำ ซึ่งมีสภาพมั่นคงแข็งแรง อาคารสูบน้ำซึ่งก่อนหน้านี้ประสบปัญหาท่อส่งน้ำชำรุด ก็ได้ดำเนินการซ่อมแซมเป็นที่เรียบร้อย มีการส่งน้ำไปตามคลองระบายน้ำและท่อส่งน้ำต่างๆ ได้ตามปกติ ขณะที่บริเวณหน้าฝายเหมืองเบอร์ 8 ตามที่เกิดปัญหาก็พบว่ามีปริมาณน้ำล้นฝายเหมือง และมีน้ำไหลไปตามเส้นทางของลำเหมือง ส่วนพื้นที่การเกษตร หลังจากมีการปล่อยน้ำแล้ว ก็ได้รับน้ำตามรอบเวรที่จัดไว้ให้ แต่ก็มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจริง แต่เป็นเพียงบางส่วน

นายจรินทร์ เปิดเผยว่า เป็นการลงพื้นที่สำรวจความเสียหายกรณีปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ส่งน้ำของโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ออน จากการสำรวจพบข้าวนาปรังในพื้นที่ตำบลออนกลาง ได้รับความเสียหายซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำของเหมืองเบอร์ 8 ประมาณ 50 ไร่ เหมืองเบอร์ 9 ประมาณ 60 ไร่ และเหมืองเบอร์ 10 ประมาณ 50 ไร่ โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เพาะปลูกนอกแผนการเพาะปลูกที่วางไว้ และมีการปลูกข้าวนาปรังบางส่วน ปลูกล่าช้า จึงทำให้เกิดความเสียหายขึ้น โดยเมื่อวันที่ 27 ต.ค.2566 ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 5 โครงการชลประทานเชียงใหม่ ร่วมกับคณะกรรมการกลุ่มบริหารการใช้น้ำอ่างเก็บน้ำแม่ออน ดำเนินการประชุมวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2566/2567

นายจรินทร์ เผยว่า โดยประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ออน ได้แจ้งแก่หัวหน้าเหมืองฝายแต่ละแห่ง เพื่อประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนแก่สมาชิกเกษตรกรลูกเหมือง ว่าปีนี้ขอความร่วมมืองดปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากข้าวนาปรัง ใช้น้ำมาก ประกอบกับการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์เอลนีโญ ที่อาจเกิดภัยแล้งติดต่อกันยาวนาน ปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ ไม่มีน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง จำเป็นต้องเก็บน้ำไว้สำรองน้ำไว้เพื่อตกกล้านาปี ฤดูฝน ปี 2567 และการอุปโภค-บริโภค 0.95 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากพื้นที่อำเภอแม่ออนประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ถ้าเกษตรกรจะทำการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ต้องมีแหล่งน้ำเป็นของตัวเอง หรืออยู่ใกล้พื้นที่แหล่งน้ำ ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นเกษตรกรผู้เพาะปลูกต้องยอมรับความเสี่ยงกับการเสียหายของผลผลิตที่อาจเกิดจากการขาดน้ำ จึงได้มีการลงมติเป็นเอกฉันท์ และได้ประชาสัมพันธ์ ชี้แจงอย่างต่อเนื่องผ่านการประชุมระดับต่าง ๆ ซึ่งภายหลังจากการประชุม กลุ่มบริหารการผู้ใช้น้ำฯ และหัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 5 ได้สำรวจความต้องการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 2566/2567 อีกครั้ง พบว่าเกษตรกรแจ้งความต้องการเพาะลูกข้าวนาปรัง 242 ไร่ โดยปัจจุบันมีการปลูกข้าวทั้งสิ้น 918 ไร่ จึงทำให้เกิดความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกห่างไกลจากลำน้ำแม่ออน

นายจรินทร์ เผยอีกว่า ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2567 ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 5 ได้ดำเนินการซ่อมแซมท่อส่งน้ำของอาคารระบายน้ำลงล้ำน้ำเดิม (River Outlet) มีการหยุดการส่งน้ำ มีการแจ้งเกษตรกรให้รับทราบแล้ว โดยได้เร่งดำเนินการซ่อมแซม และสามารถส่งน้ำได้ตามปกติเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 โดยในช่วงระหว่างการซ่อมแซม ฝ่ายส่งนำและบำรุงรักษาที่ 5 ร่วมกับ อปท. เข้าช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อน โดยการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ จำนวน 3 เครื่อง และปัจจุบัน ณ วันที่ 19 มี.ค. 2567 อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ออน มีปริมาณน้ำเก็บกัก 2.55 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้การได้ 1.65 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้โครงการชลประทานเชียงใหม่ ร่วมกับกลุ่มบริหารการใช้น้ำ ประชุมเพื่อกำหนดแผนการส่งน้ำใหม่ เพิ่มรอบเวรส่งน้ำ จากเดิม 2 วัน เป็น 3-4 วัน ในอัตรา 45,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ทำให้จะต้องเพิ่มปริมาณการส่งน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2566/67 จากเดิมวางแผนการส่งน้ำไว้ที่ 2.10 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 3.60 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างฯ ประมาณ 1.05 ล้านลูกบาศก์เมตร และคาดว่าพื้นที่นาปรังที่เหลืออยู่ จะไม่ได้รับความเสียหาย และสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณกลางเดือนเมษายน 2567

นายสุวรรณ กล่าวว่า ปีนี้น้ำล้นสปิลเวย์ก็จริง แต่เส้นทางน้ำที่ไหลผ่านก็มีเศษสวะที่ไม่ได้ขุดลอกตามลำน้ำ และการปลูกข้าวนาปรังนั้นทางรัฐบาลก็ไม่ได้สนับสนุนด้านการปลูกเนื่องจากจะเกิดภัยแล้ง และน้ำอาจจะไม่เพียงพอต่อการเกษตร ให้ปลูกพืชอายุสั้น เก็บเกี่ยวได้ง่าย จะไม่เสี่ยงต่อการปลูก แต่เกษตรกรบอกว่าถึงไหนถึงกัน หากจำเป็นจริงๆ ก็ต้องใช้เครื่องสูบน้ำสูบหรือหาแหล่งน้ำสูบ แต่เกษตรกรบอกว่าไม่เป็นไร ซึ่งแต่ละเหมืองฝาย ก็ได้ประสานงานกับเกษตรกร ในการประชุมว่าอย่าปลูกเกินให้มากเกินไป เพราะปริมาณน้ำไม่แน่นอน ต้องรักษาน้ำไว้ในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึง เพื่อให้มีน้ำตกกล้าทำนาต่อไป

ซึ่งเกษตรกรก็ยอมเสี่ยงดวง ประธานเหมืองฝายก็มีการปลูกไปกว่า 150 ไร่ เสียหายไป 50 ไร่ เขาก็ยอมรับเพราะไม่มีแหล่งสูบน้ำ พื้นที่ที่มีแหล่งสูบน้ำก็ไม่เกิดความเสียหาย ประกอบกับท่อส่งน้ำหากไม่ชำรุดก็คงไม่มีปัญหา ทางโครงการชลประทานเชียงใหม่ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจได้นำเครื่องสูบน้ำมาช่วยเหลือ ระหว่างน้ำที่สูบขึ้นมากับน้ำ ที่ปล่อยออกมามีความแแตกต่างกัน ทำให้น้ำไปไม่ถึงในบางพื้นที่ ภายหลังจากการซ่อมท่อส่งน้ำเสร็จ และเริ่มปล่อยน้ำเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา น้ำก็ส่งไปถึงปลายทางแล้ว แต่ยังไม่ทั่วถึงเพราะมีการแบ่งรอบการใช้น้ำฝายละ 2 วัน ส่วนพื้นที่นาข้าวที่เสียหาย ก็ได้มีการนำไปขายให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงโคนม ในราคา 2,000-3,000 บาท ก็พอจะได้ต้นทุนคืนบ้าง