เมื่อวันที่ 20 มี.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวภายหลังเปิดตัวโครงการห้องเรียนสู้ฝุ่นในพื้นที่กทม.ระยะที่ 2 ว่า ปีนี้เป็นปีที่ 2 ของห้องเรียนสู้ฝุ่นที่กทม.ร่วมกับภาคีเครือข่าย ในการจัดทำเนื่องจากห้องเรียนปลอดฝุ่นเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเรายังแก้ปัญหาจากต้นตอสาเหตุฝุ่นไม่ได้ 100% และเด็กเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุด ถ้าฝุ่นเข้าไปในร่างกายแล้วจะสร้างผลกระทบในระยะยาว รวมถึงการปลูกฝังการแก้ปัญหาฝุ่นก็จะทำให้แก้ปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืนได้ โดยในปีแรก กทม.มีห้องเรียนปลอดฝุ่น ประมาณ 32 ห้องเรียน ปัจจุบันขยายเป็น 437 ห้องเรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้เด็กมีสถานที่ปลอดภัยในสถานการณ์ค่าฝุ่นPM2.5 สูง รวมถึง กทม. จะขยายห้องเรียนปลอดฝุ่นไปยังศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียนอีกด้วย

” ห้องเรียนปลอดฝุ่น ไม่ใช่แค่เรื่องของกายภาพที่ทำให้ห้องป้องกันฝุ่นเข้ามาได้ แต่ยังเป็นเรื่องของการให้ความรู้ สร้างจิตสำนึก ให้นักเรียนตระหนักรู้ปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างละเอียด เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นจากต้นต่อสาเหตุฝุ่นได้อย่างยั่งยืน” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

สำหรับโครงการยกระดับองค์ความรู้สําหรับเด็กและเยาวชน เพื่อการตระหนักถึง ปัญหาด้านสุขภาพในพื้นที่เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กสู่นโยบายสาธารณะ หรือ ห้องเรียนสู้ฝุ่น ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยครั้งนี้เป็นการดําเนินการใน ระยะที่ 2 โดยจะดําเนินการห้องเรียนสู้ฝุ่นให้ครบคลุมทั้งสิ้น 437 โรงเรียน

มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเมืองต้นแบบการรับมือกับฝุ่น PM2.5 ผ่านองค์ความรู้และข้อมูลวิทยาศาสตร์ โดยมีระบบข้อมูลองค์ความรู้ นวัตกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 และชุดกิจกรรมเสริมหลักสูตร สําหรับใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียน ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับภาคีเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ด้วยตนเอง และสามารถสื่อสารเรื่องภัยฝุ่น PM2.5 ส่งต่อไปยังครอบครัว ชุมชน และสังคมต่อไป

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจนว่า PM2.5 สามารถสะสมในถุงลมฝอยของปอด สามารถแทรกซึมเข้าสู่กระแสโลหิตและกระจายไปทั่วร่างกาย ซึ่งได้กลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 5 ของประชากรโลกในปี 58 นอกจากนี้ปี 59 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจาก มลพิษทางอากาศ 7 ล้านคน โดยเกิดจากมลพิษทางอากาศภายนอกอาคาร (Ambient Air) 4.2 ล้านคน และร้อยละ 91 เกิดในประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตก สําหรับในประเทศไทยมีการรายงานความเชื่อมโยงการได้รับสัมผัส PM2.5 และผลกระทบต่อการตายก่อนวัยอันควร โดยกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่ได้แก่ เด็กและผู้สูงอายุ.