นายมนาเทศ อันนวัฒน์ ผู้จัดการใหญ่บริษัทไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด เปิดเผยว่า ผลจากความไม่มั่นคงภายในประเทศและสงครามระหว่างประเทศ ทำให้ยอดการขายบัตรไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย โดยเฉพะรัสเซียขยับอันดับขึ้นมาอยู่อันดับ 5 ในปี 2567 จากอันดับ 8 ในปี 2566 รวมถึงยูเครน ไต้หวัน ฮ่องกง และในปีนี้ตลาดเมียนมามีการเติบโตที่น่าสนใจมาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ ส่วนจีนซึ่งเป็นลูกค้าหลักปัจจุบันมีสัดส่วน 45% จากจำนวนผู้ถือบัตรทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีสัดส่วน 38% ทั้งนี้ข้อมูลตั้งแต่ปี 2003-29 ก.พ. 2567 พบว่า มีสมาชิกชาวรัสเซีย  1,132 ราย ยูเครน  86 ราย เมียนมา 535 ราย ฮ่องกง  882 ราย ไต้หวัน 1,236 ราย

ทั้งนี้ในบรรดาของบัตรไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด ทั้ง 4 ประเภทนั้น บัตรโกลด์เป็นบัตรที่ขายดีที่สุด อายุการเป็นสมาชิก 5 ปี พร้อมรับคะแนนสะสมปีละ 20 คะแนน อัตราค่าธรรมเนียม 9 แสนบาท รองลงมาเป็นแพลทินัม เพราะมีสิทธิพิเศษสามารถนำครอบครัวเดินทางเข้ามาได้ด้วย อายุการเป็นสมาชิก 10 ปี พร้อมรับคะแนนสะสมปีละ 35 คะแนน อัตราค่าธรรมเนียม 1.5 ล้านบาท และแต่ละปีจะมีสมาชิกที่ถือบัตรฯ เดินทางเข้าไทยเฉลี่ย 75% ต่อปี ซึ่งแต่ละคนจะเดินทางเข้าไทย 3.6 ครั้งต่อปี และอยู่นานถึง 50 วันต่อครั้ง และใช้จ่ายเปลี่ยน 7,000-10,000 บาทต่อคนต่อวัน

สำหรับผลประกอบการปีงบประมาณ 2566 มียอดสมาชิกสะสม 31,231 ราย เพิ่มขึ้นกว่า 11,846 ราย คิดเป็น 108% และแนวโน้มปี 2567 คาดว่าจะสามารถขายบัตรฯ ได้ 8,000 ใบ เป้าหมายรายได้กว่า 8,000 ล้านบาท แต่จากจำนวนสมาชิกทั้งหมดช่วยให้เกิดเงินสะพัดกว่า 50,000 ล้านบาท หรือมีสมาชิกสะสมรวม 39,000 ราย ทั้งนี้ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2566-29 ก.พ. 2567 ขายบัตรได้แล้ว 6,721 ใบ สร้างรายได้ 5,428 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ถือบัตรจะเห็นได้ว่าจำนวนลดลง แต่การเติบโตของรายได้มากขึ้นเป็นผลมาจากการบัตรในราคาแพงขึ้น จากบัตรเดิมที่ขายในราคาเริ่มต้นที่ 5 แสนบาท ส่วนบัตรใหม่เริ่มต้น 9 แสนบาท สูงสุด 5 ล้านบาท โดยคาดว่าปีนี้รายได้จากการขายบัตรจะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 5-10%

อย่างไรก็ตามในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทสามารถส่งเงินกำไรคืนให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะบริษัทแม่ รวม 1,607 ล้านบาท เพื่อส่งคืนให้รัฐบาล แบ่งเป็นปี 2564 จำนวน 138 ล้านบาท ปี 2565 จำนวน 627 ล้านบาท และปี 2566 จำนวน 841 ล้านบาท