รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) แจ้งว่า ขณะนี้ภาพรวมการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางสายเหนือ ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ ระยะทาง 145 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 2.15 หมื่นล้านบาท ยังคงมีความล่าช้าจากแผนงานประมาณ 10.37% โดยความคืบหน้าการก่อสร้างล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 86.99% โดยสัญญาที่ 1 ช่วงบ้านกลับ – โคกกระเทียม ระยะทาง 29 กม. วงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท คืบหน้า 91.30% ล่าช้ากว่าแผน 7.02% ส่วนสัญญาที่ 2 ช่วงท่าแค-ปากน้ำโพ ระยะทาง116 กม. วงเงินประมาณ 8.65 พันล้านบาท คืบหน้า 82.68% ล่าช้ากว่าแผน 13.72%

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า ปัจจุบันทั้ง 2 สัญญา ยังใช้สิทธิมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ค่าปรับ 0% โดยงานสัญญาที่ 1 ได้รับการขยายสัญญาไปถึงเดือน ก.ย.67 ส่วนงานสัญญาที่ 2 ขยายสัญญาไปถึงเดือน ต.ค.67 ดังนั้นภายในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ งานการก่อสร้างทั้ง 2 สัญญาจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ หากไม่เสร็จทันตามกำหนดวันสิ้นสุดสัญญา ทางผู้รับจ้างต้องจ่ายค่าปรับให้แก่ รฟท. วันละ 0.1% ของค่างานก่อสร้าง โดยสัญญาที่ 1 วันละประมาณ 10 ล้านบาท และสัญญาที่ 2 วันละประมาณ 8 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ขณะที่สัญญาที่ 3 งานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม วงเงิน 2.77 พันล้านบาท มีความคืบหน้า 39.04% ล่าช้า 60.96% โดยจะติดตั้งแล้วเสร็จ และพร้อมเปิดให้บริการรถไฟทางคู่สายเหนือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ได้ตลอดเส้นทางประมาณปลายปี 68 อย่างไรก็ตามปัญหาความล่าช้าของการดำเนินงานที่เกิดขึ้น มาจากการขาดแคลนแรงงานเป็นหลัก ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  และที่ผ่านมา รฟท. ได้กำชับ และเร่งรัดให้แก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการหาผู้รับจ้างรายย่อย(ซับคอนแทรค) และการจัดหาแรงงานเข้ามาเพิ่มเติม ทางด้านผู้รับจ้างก็พยายามดำเนินการแล้ว แต่ก็ยังมีจำนวนไม่เพียงพอ ทำให้งานก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนจนมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งวิธีที่จะทำให้งานแล้วเสร็จตามแผนคือ ผู้รับจ้างต้องเร่งงานอย่างเดียว และเพิ่มแรงงานเข้ามาให้มากที่สุด

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า เบื้องต้น รฟท. มีแผนจะนำร่องเปิดให้บริการรถไฟทางคู่สายเหนือปลายปี 67 ตั้งแต่ช่วงบ้านหมี่ จ.ลพบุรี-บ้านตาคลี จ.นครสวรรค์ ระยะทางประมาณ 40 กม. ไปพลางก่อน และจะทยอยในจุดอื่นๆ ต่อไป ระหว่างรอการติดตั้งงานระบบอาณัติสัญญาณฯ แล้วเสร็จ โดยในการเปิดใช้งานจะใช้ระบบอาณัติสัญญาณฯ เดิม ซึ่งพนักงานขับรถไฟจะทำหน้าที่โยนห่วงและรับห่วงทุกสถานี เพื่อความปลอดภัย และการจัดการเดินรถไฟ ทั้งนี้ระบบใหม่ จะเป็นระบบไฟสี ควบคุมระบบอาณัติสัญญาณด้วยระบบอัตโนมัติ จะเป็นการขอทาง และให้ทางด้วยระบบคอมพิวเตอร์

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางสายเหนือ ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ ได้เริ่มการก่อสร้างตั้งแต่ประมาณกลางปี 61 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 48 เดือน หรือประมาณ 4 ปี ตามแผนงานเดิมจะต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จประมาณปี 65 และพร้อมเปิดให้บริการตลอดทั้งเส้นทางได้ภายในปี 66 แต่เนื่องจากในระหว่างการก่อสร้างต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคต่างๆ มากมาย อาทิ การปรับแบบการก่อสร้างใหม่, การเข้าใช้พื้นที่ก่อสร้าง และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้แผนงานล่าสุดถูกปรับเป็นก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 67 เปิดให้บริการปลายปี 68.

ขอบคุณภาพประกอบจากเพจเฟซบุ๊ก โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ