จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ภายใต้การกำกับของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สั่งการให้คณะพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน หรือคดีพิเศษที่ 59/2566 (คดีหมูเถื่อน 161 ตู้) ดำเนินการโดย พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน และคณะทำงาน ร่วมกันสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน เปิดปฏิบัติการตรวจค้นและตรวจยึดพยานเอกสาร พยานวัตถุสำคัญ ก่อนขอศาลอาญาออกหมายจับแก่บุคคลและนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับขบวนการนำเข้าชิ้นส่วนสุกรแช่แข็งมายังราชอาณาจักร ประกอบด้วย กลุ่มนายทุนหมูเถื่อน บริษัทชิปปิ้งเอกชน รวมทั้งสิ้น 12 หมายจับ ต่อมามีการจำแนกเลขคดีออกเป็น 10 คดี เพื่อดำเนินการทางคดีกับรายบริษัทชิปปิ้งเอกชนโดยเฉพาะ และมีการขยายผลต่อเนื่องจนพบว่ายังมีกลุ่มตู้หมูเถื่อนที่ถูกนำเข้ามายังท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,388 ตู้ แต่ยังมีการลักลอบนำเข้าเนื้อสัตว์เถื่อนนานาชนิดกว่า 10,000 ตู้ จึงรับเป็นคดีพิเศษ ตามที่มีการรายงานข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ลุยหมูเถื่อน-ตีนไก่! DSI เร่งขยายผลล่าเพิ่มกลุ่ม ‘เฮียเก้า-นักการเมือง’

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 22 มี.ค. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยส่วนประชาสัมพันธ์ ได้รายงานผลการดำเนินงานของคณะพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน ว่า เมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ทับสาร รอง ผอ.กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค และในฐานะเลขานุการคณะพนักงานสอบสวน ได้รับการสั่งการจาก พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบ ให้เชิญคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 101-109/2566, คดีพิเศษที่ 126/2566 และคดีพิเศษที่ 127/2566 ประชุมเพื่อพิจารณามีมติ กรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สอบถามกรณีการสอบสวนที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าซากสัตว์โดยสำแดงเป็นสินค้าประเภทประมง และการรายงานความคืบหน้าของการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

พ.ต.ต.ณฐพล หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน เปิดเผยว่า การประชุมเป็นไปตามภารกิจที่คณะพนักงานสอบสวนแบ่งหน้าที่กันสืบสวนสอบสวนให้เป็นไปตามการเร่งรัดคดีตามนโยบายของรัฐบาล และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และภายใต้การบริหารคดีของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รรท.อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อีกทั้งนอกจากคณะพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนแต่ละสำนวนได้รายงานความคืบหน้าแล้ว ที่ประชุมยังมีมติร่วมกันว่า คดีพิเศษที่ 101-109/2566 จะเร่งรัดการสอบสวนและสรุปสำนวนการสอบสวนมีความเห็นทางคดีเสนอต่อผู้บังคับบัญชาให้เสร็จสิ้นภายในเดือน เม.ย.นี้

พ.ต.ต.ณฐพล เผยอีกว่า ส่วนคดีพิเศษที่ 126/2566 กรณีการนำเข้าตู้หมูเถื่อน จำนวน 2,388 ตู้ ยังมีความจำเป็นที่จะต้องรอข้อมูลจากต่างประเทศผ่านกระบวนการความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา (MLAT) จากประเทศต้นทางของกลุ่มผู้ประกอบการสั่งซากสุกรซากเนื้อ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ประสานกับอัยการสำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อขอข้อมูลรายละเอียดจากประเทศต้นทางต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับคดีหมูเถื่อน 161 ตู้ หรือคดีพิเศษที่ 59/2566 ซึ่งนับว่าเป็นสำนวนคดีเริ่มต้นของดีเอสไอนั้น คณะพนักงานสอบสวนได้มีการออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งสิ้น 2 กลุ่มรวม 12 หมายจับ ซึ่งถูกจับกุมครบแล้ว ขณะที่ในส่วนของสำนวนคดี 161 ตู้ ทั้ง 10 เลขคดีนั้น (เลขคดีพิเศษที่ 101/2566-109/2566) คณะพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนส่งให้สำนักงาน ป.ป.ช. ไปแล้ว 3 สำนวน ได้แก่ คดีพิเศษที่ 59/2566 คดีพิเศษที่ 101/2566 และคดีพิเศษที่ 104/2566 เนื่องจากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือ เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ปัจจุบันทั้ง 3 สำนวนอยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ส่วนอีก 7 สำนวน คือ เลขคดีพิเศษที่ 102/2566, 103/2566, 105/2566-109/2566 คณะพนักงานสอบสวนจะเร่งรัดดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือน เม.ย.นี้ ตามที่ได้มีการนำเสนอต่อผู้บังคับบัญชา.