กรณีที่คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) คดีหมูเถื่อน ภายใต้การกำกับของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีดีเอสไอ และในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ นำโดย พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน ดำเนินการรับคดีพิเศษเพิ่มเติมอีก 2 คดี ก่อนรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอาญาออกหมายจับ 5 บุคคล ประกอบด้วย นายหลี่ เซิ่งเจียว หรือเฮียเก้า, นายหยาง ยา ซุง, นายกรินทร์ ปิยพรไพบูลย์, น.ส.นวพร เชาว์วัย และนายสมเกียรติ กอไพศาล ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560, พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558, ความผิดฐานอั้งยี่ซ่องโจร และข้อหาร่วมกันฟอกเงิน ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

‘DSI’ บุกค้นบริษัท ‘เฮียเก้า’ หาหลักฐานเชื่อมโยงนักการเมือง-จนท.รัฐ

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 13 ม.ค. พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าในคดีพิเศษที่ 127/2566 หรือคดีเนื้อสัตว์เถื่อนกว่า 10,000 ตู้นั้น เราได้แบ่งกลุ่มผู้ที่มีส่วนร่วมในการลักลอบนำเข้าเนื้อสัตว์เถื่อน 2 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มเฮียเก้าและพวก ตามที่ได้ขอศาลออกหมายจับ 5 หมาย ซึ่งในกลุ่มนี้ เมื่อเราขยายผลจากพยานหลักฐาน มั่นใจได้ว่ามีมากกว่านี้อย่างแน่นอน เพราะในส่วนของสองสามีภรรยา นายหยาง ยา ซุง และ น.ส.นวพร ตามข้อมูลการสืบสวนพบว่า ทั้งคู่ประกอบกิจการขายส่งตีนไก่สวมสิทธิเช่นเดียวกับเฮียเก้า ถือเป็นคู่แข่งกันทางการค้า และจะมีกลุ่มคนในลักษณะเดียวกับสองสามีภรรยานี้อีกหลายกลุ่มให้เราต้องจับกุม และ 2.กลุ่มนักการเมือง กลุ่มนี้คณะพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการสอบสวนขยายผล

พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวต่อว่า การลักลอบนำเข้าตีนไก่จากประเทศต้นทางอื่น อาทิ ประเทศบราซิล ประเทศอุรุกวัย ประเทศตุรกี เป็นต้น เข้ามายังประเทศไทย และทำการเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ก่อนปั๊มตราบริษัทที่ได้โควตา สวมสิทธิส่งจำหน่ายประเทศจีน โดยปลอมแปลงว่าเป็นตีนไก่ที่สั่งซื้อจากบริษัทในไทยนั้น ไม่สามารถกระทำได้เด็ดขาด ซึ่งภายในสัปดาห์หน้า ดีเอสไอจะเชิญเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์และกรมศุลกากร ที่มีหน้าที่อนุญาตนำส่งสินค้าไปขายยังประเทศปลายทาง หรือประเทศจีน เพื่อสอบถามว่ามีบริษัทกี่แห่งที่ได้รับโควตาในการขายตีนไก่ให้ประเทศจีน และแต่ละบริษัทมีโควตาในการจัดส่งปริมาณกี่ตัน/กี่กิโลกรัม นอกจากนี้ ก็จะมีการเชิญบริษัทอื่นๆ ที่ได้รับโควตามาสอบถามด้วย

“เมื่อก่อนนี้ ประเทศจีนให้โควตาการรับซื้อตีนไก่กับประเทศไทย เดือนละ 180 ตู้คอนเทเนอร์ ตกตู้ละ 25 ตัน และสินค้าตีนไก่จะไปขายยังประเทศจีนได้ต้องมีใบรับรอง (Certificate) จากกรมปศุสัตว์ ถ้าไม่มีใบรับรองก็ส่งออกไม่ได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทที่จะขายส่งตีนไก่หรือชิ้นส่วนไก่ จะต้องได้รับการตรวจสอบจากประเทศจีนเรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องด้วยตีนไก่ในประเทศไทยกำลังผลิตไม่ทัน จึงเกิดการลักลอบสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ แล้วนำมาสวมสิทธิปั๊มตราว่าผลิตในประเทศไทย ก่อนส่งจำหน่ายไปยังประเทศจีน ทั้งนี้ การเกิดช่องว่างดังกล่าว ก็เพราะโควตาที่ไทยได้รับมามันมากกว่ากำลังผลิต จึงเกิดกลุ่มคนหัวใส ทำการสวมสิทธิตีนไก่ และถ้าหากบริษัทใดส่งเกินโควตา จีนก็จะระงับการซื้อขายทันที เช่น บริษัท ตะนาวศรีไก่ไทย จำกัด และบริษัท ฟู้ด วิลเลจ จำกัด ที่ดีเอสไอได้เข้าตรวจค้นมาก่อนหน้านี้ และพบว่าหยุดการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับตีนไก่ ผันไปทำอย่างอื่นแทน และยังพบพยานเอกสารที่ระบุชัดเจนว่าเฮียเก้าเกี่ยวข้อง จนนำมาสู่การขอศาลอาญาธนบุรีออกหมายจับ” พ.ต.ต.ณฐพล ระบุ

พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวอีกว่า กลุ่มบริษัทที่นำเข้าตีนไก่ มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่นำเข้าชิ้นส่วนสุกรแช่แข็ง โดยเกี่ยวข้องกันในส่วนของบริษัทชิปปิ้งเอกชน เนื่องจากการสืบสวน เราพบว่าบางบริษัทชิปปิ้งเอกชนที่เคยถูกดำเนินคดีในคดีหมูเถื่อน 161 ตู้ ก็มีการนำเข้าชิ้นส่วนตีนไก่เช่นกัน แต่ ณ ตอนนี้ในกรณีของเฮียเก้า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหมูเถื่อน แต่เกี่ยวข้องกับตีนไก่สวมสิทธิไปขายประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องเส้นทางการเงินหมุนเวียนต่างๆ เราจะประสานสำนักงาน ปปง. ดำเนินการตรวจสอบคู่ขนานร่วมด้วยว่ามีการโอนจ่ายไปยังบัญชีผู้ใดบ้าง หรือได้มีการโอนเงินไปยังสมาคมการค้าแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยเอเชีย ซึ่งเจ้าตัวเป็นนายกสมาคมหรือไม่

ส่วนความคืบหน้าทางคดีพิเศษที่ 126/2566 หรือคดีหมูเถื่อน 2,388 ตู้ ซึ่งขยายผลมาจากคดีหมูเถื่อน 161 ตู้นั้น พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวว่า เนื่องด้วยคดีนี้ เราดำเนินการตรวจสอบเกี่ยวกับตู้คอนเทเนอร์ที่บรรจุชิ้นส่วนสุกรแช่แข็งที่ถูกนำออกจากท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ไปจำหน่ายยังที่ต่างๆ หมดแล้ว ดีเอสไอจึงต้องประสานข้อมูลกับทางกรมศุลกากรและกรมเจ้าท่า เพื่อให้ส่งข้อมูลของยานพาหนะที่ขนส่งสินค้าออกไปจากท่าเรือ เนื่องจากขั้นตอนนี้ จะมีระบบ GPS TRACKING สำหรับตรวจสอบได้ว่า มีการขนสินค้าไปส่งไว้ที่ใด ขณะนี้คณะพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างรอรวบรวมข้อมูลเอกสาร ก่อนนำส่งให้กรมขนส่งทางบก จึงจะได้ใช้เครื่องมือของดีเอสไอในการตรวจสอบตำแหน่งแผนที่ และหาจุดที่สินค้าถูกนำไปจัดส่งไว้

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานเพิ่มเติมจากแหล่งข่าวในกระทรวงยุติธรรม ว่า กรณีที่บริษัทต่างๆ ในประเทศไทย จะได้รับโควตาการส่งออกตีนไก่ไปจำหน่ายต่างประเทศนั้น ยกตัวอย่าง มี 10 บริษัทประกอบกิจการเกี่ยวกับการส่งออกสินค้าตีนไก่ กรมปศุสัตว์ จะมีโควตาในการส่งออกให้กับบริษัทเหล่านี้ เช่น ส่งออกได้กี่ตู้คอนเทเนอร์ หรือส่งออกได้กี่ตัน จากนั้นผู้ที่ได้รับหน้าที่ในการส่งออก หรือในกรณีคดีที่ดีเอสไอดำเนินการอยู่ ก็คือ “เฮียเก้า หรือนายหลี่ เซิ่งเจียว” ก็จะไปจัดสรรโควตาเองว่าบริษัทใดได้ส่งออกเท่าไร เรียกได้ว่า “เฮียเก้า” เป็นบุคคลที่ดูแลการส่งออกตีนไก่สวมสิทธิทั้งหมด เพื่อสามารถจัดหาและจัดส่งตีนไก่ไปจำหน่ายให้ครบโควตาตามกำหนดจากกรมปศุสัตว์ อีกทั้งเส้นทางการเงิน หรือเงินหมุนเวียนต่างๆ ของเฮียเก้า ค่อนข้างมีการวางแผนเป็นอย่างดี เพราะใช้นอมินีในการถือเงินบริหารจัดการทั้งหมด.