เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. นายอนุทิน  ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงพรรคภูมิใจไทยในช่วงหลังปีใหม่ 2566 ว่า จะมีนักการเมืองทยอยมาเข้าร่วมกับพรรคมากกว่าคราวเปิดรับสมัครสมาชิกพรรค เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 65 ที่ผ่านมาหรือไม่ว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นได้หมด ถ้าการเมืองมันถึงคราวเปลี่ยนวาระ หรือทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง สมัยก่อนปี 2535 คนวิ่งเข้าพรรคประชาธิปัตย์ ปี 2538 วิ่งเข้าพรรคชาติไทย ปี 2539 วิ่งเข้าพรรคความหวังใหม่ ปี 2544 วิ่งเข้าพรรคไทยรักไทย แล้วปี 2566 ถ้าคนจะวิ่งเข้าพรรคภูมิใจไทยมันแตกต่างจากอดีตตรงไหน ไม่เห็นเป็นเรื่องใหม่ หรือ นวัตกรรมใหม่ ถือเป็นเรื่องปกติ พรรคภูมิใจไทยมีทั้งคนเข้าและออก ที่เป็น ส.ส. หรือผู้สมัคร ส.ส. ออกไปจากพรรคก็มี ทำไมตรงนี้ไม่มองว่าเป็นงูเห่าหรือพลังดูดบ้างล่ะ ไม่เห็นพูดถึง แต่พอมีคนเข้ามาพรรคภูมิใจไทย เป็นเรื่องเลย 

“แต่สิ่งที่พรรคภูมิใจไทยแตกต่างจากพรรคอื่นคือ ใครจะมาใครจะไปเรายินดีหมดใครจะไปเราถามคำหนึ่ง ถ้าเขายังยืนยันจะไป ก็ต้องบอกว่าโชคดีนะ ไปทำงานให้กับบ้านเมืองนะ ไม่มีอะไรอะไรโกรธกัน สบายใจได้ พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ เราไม่มีการไล่ส่ง ไม่แดกดัน ไม่ด้อยค่า หรือไปดูถูกพรรคที่ไปสังกัด ไม่วิเคราะห์ว่าเขาจะได้หรือตก เพราะเขาเลือกทางเดินแล้ว คนมีน้ำใจนักกีฬา ก็ต้องบอกว่าขอให้ไปดี ให้สำเร็จ มีตำแหน่งแห่งหน ทำไมต้องมานั่งด่าเขา สาปแช่งเขา ไม่มีประโยชน์เลย การที่เราไปด่าเขาก็เท่ากับว่าไปด่าประชาชนที่สนับสนุนเขา แล้วเป็นผู้แทนฯ เป็นนักการเมือง เป็นรัฐมนตรี คุณด่าประชาชนได้หรือไม่มันสมควรทำหรือไม่” นายอนุทิน กล่าว

หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ในอดีต พรรคภูมิใจไทยยิ่งเล่นการเมืองเพื่อนยิ่งหาย คนที่เคยรักนับถือต้องอยู่คนละข้าง เมินใส่กัน ทั้งที่ไม่มีเรื่องโกรธเคืองเลย เราจะทำให้ความสัมพันธ์ที่เล่นการเมืองกันมามันหายไปหมดเลยหรือ มันได้อะไรขึ้นมา อายุก็มากขึ้น แก่ตัวขึ้น แล้วยังจะมาทะเลาะกันอีกเพื่ออะไร พรรคภูมิใจไทยประสบเรื่องเหล่านี้มาตลอด ถึงมีความอดทนสูง ถูกดูถูกเหยียดหยาม และจะไปทำอย่างที่เคยโดนมาเด็ดขาด  

“คำว่าเนรคุณ ไม่สมควรใช้ในทางการเมือง เพื่อโจมตีกัน ขอถามว่าไปเอาเงินเขามาหรือไม่ พูดตรงๆ คือ เป็น ส.ส. ประชาชนเลือกเข้ามา เมื่อเข้ามาในสภาแล้วเลือกหัวหน้าพรรคของตัวเองเป็นนายกฯ ก็ตอบแทนกันแล้วจบแล้ว นายกฯ ก็ลงพื้นที่ให้ผู้แทนฯ ก็ตอบแทนกลับ ขณะที่ ผู้แทนฯ ก็ยกมือไว้วางใจนายกฯ หรือรัฐมนตรี ทุกครั้งมันมีการต่างตอบแทนกัน เพราะฉะนั้นคำว่าเนรคุณมันเป็นศัพท์ หรือวาทกรรมที่ผลิตขึ้นมา ความเป็นจริงไม่มี หัวหน้าพรรคคนไหนที่จะมีบุญคุณมากพอที่จะให้ลูกพรรคติดหนี้บุญคุณ ถึงใช้คำว่าเนรคุณได้ เพราะทุกคนเข้ามาเพราะประชาชน ไม่ได้เข้ามาเพราะเงินหัวหน้าพรรค” นายอนุทิน กล่าว