เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 67 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการประชุมโครงการการแสดงผลการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง โดยมี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี เป็นประธาน มี น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผอ.กองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวง อว.และผู้บริหารเข้าร่วม

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การศึกษาขั้นพื้นฐานกับความมั่นคงของชาติ” ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมอบหมายให้องคมนตรีมีหน้าที่ดูแลเรื่องการศึกษา ในโครงการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนโครงการกองทุนการศึกษา โรงเรียนพระดาบส โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนในโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติฯ จ.กาญจนบุรี ภายใต้มูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นอกจากนี้ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ดูแลโครงการกองทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยม ติดตาม ให้กำลังใจ และให้ความช่วยเหลือสถานศึกษา โดยมุ่งเน้น “การสร้างคนดีให้บ้านเมือง” ทั้งนี้ ตนพบว่า นักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลประสบปัญหาทางด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ เช่น อาคารเรียน อาคารฝึกปฏิบัติการต่าง ๆ รวมทั้งหอพักนอนสำหรับนักศึกษาที่พักอาศัยอยู่ห่างไกล นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษาที่มีจำนวนจำกัด ในฐานะที่ทุกท่านในที่นี้เป็นบุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการศึกษา จึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อทำให้การศึกษาของไทยพัฒนาอย่างยั่งยืน และเกิดคุณภาพทัดเทียมกับนานาประเทศ อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงของชาติต่อไป

ขณะที่ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. กล่าวว่า โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยงหรือโครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง คือการนำอาจารย์ในมหาวิทยาลัยจาก 9 เครือข่ายทั่วประเทศไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับครูในโรงเรียนต่างๆ ในชุมชนต่างจังหวัด เพื่อช่วยจัดการเรียนการสอน และผลิตสื่อในการเรียนรู้ เพื่อให้ครูในโรงเรียนมีองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำไปสอนนักเรียนให้มีคุณภาพมากขึ้น ทำให้ครูมีนวัตกรรมที่จะนำไปสอนเด็กให้มีความทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคนี้

“สิ่งที่โครงการมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงจะเน้นคือการเข้าไปช่วยพัฒนาโรงเรียนในชุมชนที่มีขนาดไม่ใหญ่ เป็นโรงเรียนที่ยังต้องการความช่วยเหลือและไม่ได้มีแค่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเข้าไป แต่ยังมีภาคเอกชนเข้าไปช่วยสอนช่วยพัฒนาด้วย ซึ่งต่างได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจนเกิดผลสัมฤทธิ์มากมาย สำหรับในปี 2567 มีแผนที่จะขยายจำนวนโรงเรียนเครือข่าย ขยายความร่วมมือกับภาคเอกชนให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของโรงเรียนทั่วประเทศให้ได้มากที่สุด เป็นการช่วยพัฒนาโรงเรียนให้ส่งต่อนักเรียนที่มีคุณภาพเข้าสู่ภาคอุดมศึกษา เด็กสามารถสอบเข้าในคณะที่ตนเองต้องการได้ ผลงานที่ผ่านมา ดิฉันพึงพอใจในระดับหนึ่ง แต่ต้องมีการพัฒนาขึ้นไปอีก โดยเฉพาะการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้มีนวัตกรรมมากกว่านี้ เจาะลงไปในโรงเรียนขนาดเล็กได้มากขึ้น และสามารถเพิ่มองค์ความรู้ให้กับนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่กำลังจะเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา ซึ่งจะทำให้อัตราการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีมากขึ้นด้วย” ​รมว.อว.กล่าว