เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาทหมายเลขดำ อ.1590/2565 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานรัฐสภา เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328

โดยอัยการโจทก์ระบุฟ้องพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 55 เวลากลางวัน จำเลยหมิ่นประมาท พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระหว่างการบรรยายในงานเปิดงานโรงเรียนการเมือง ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่โรงแรมรามาดาพลาซ่า แม่น้ำริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร โดยมีข้อความเป็นการใส่ความผู้เสียหายทำนองว่า รูปแบบการปกครองทุกอย่างต้องพัฒนาไปข้างหน้า แต่ต้องยอมรับว่ารูปแบบการปกครองของประเทศไทยให้โอกาสมาก บ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นสิ่งที่เราต้องทำ คนไทยมีศักยภาพ แต่เรามีจุดอ่อนที่นักการเมืองโกง ซึ่งมาจากธุรกิจการเมืองและอุปสรรคของประชาธิปไตย คือ การยึดอำนาจระบอบประชาธิปไตย อำนาจประชาธิปไตยจะใช้ผ่านองค์กร สถาบันทั้งนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และตุลาการ โดยมีการคานอำนาจซึ่งกันและกัน แต่เมื่อบ้านเมืองมีปัญหา จึงเกิดองค์กรอิสระขึ้นมา เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) แต่เมื่อระบบทักษิณเกิดขึ้น ก็ใช้วิธีการนอกกฎหมาย

สําหรับปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน เป็นเพราะนโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศว่าจะแก้ไขปัญหาใน 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ให้หมดภายใน 3 เดือนนั้น ทั้งที่ขณะนั้นไฟใต้มอดแล้วในสมัยที่ตนเป็น นายกรัฐมนตรี แต่เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี กลับใช้คำว่า “โจรกระจอก” และมียกเลิกศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หันมาใช้นโยบาย “ฆ่าหมดก็จบตรงนี้” คือที่มาของการนองเลือดในปัจจุบันนี้ โดยคำพูดต่าง ๆ ของนายชวน จำเลย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษ จำเลยตามความผิดด้วย

นายชวน กล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาว่า ได้สืบพยานกันมา 7 วันต่อเนื่องกัน และศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาวันนี้ และก่อนที่จะอ่านคำพิพากษา ได้ขออนุญาตแถลงการณ์ ซึ่งเป็นผลอันหนึ่งเพื่อสรุปข้อเท็จจริงจากการที่สืบพยานกันมา ในที่สุดศาลยกฟ้องด้วยเหตุผลว่า เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะที่จำเลยคือตน เป็นนักการเมือง เป็นนายกรัฐมนตรี และมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์ในเหตุการณ์ที่ได้ประสบมา เนื่องจากในสำนวนได้มีการสืบพยานที่มาของคำพูด เช่น การฆ่าตัดตอน การฆ่าทิ้ง ฯลฯ โดยมีอดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 มาเบิกความให้

นายชวน กล่าวต่อว่า อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นคนเดียวในวันประชุมวันที่ 8 เม.ย. 2544 ที่นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีและไปประชุม อันเกิดจากวันที่ 7 เม.ย. ที่มีระเบิดที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ และวันที่ 8 คือวันที่ให้นโยบายว่าคนร้ายมีไม่เกิน 17-18 คน ที่เป็นหัวโจก จัดการเดือนละ 10 คน 2 เดือนก็หมด รองแม่ทัพภาคที่ 4 ได้มายืนยันความหมาย หลังจากนั้นปัญหาภาคใต้ก็ได้เกิดขึ้นจากนโยบายดังกล่าว ในที่สุดก็ได้ส่งตำรวจเข้าไป เพราะเชื่อว่าตำรวจทำได้ ซึ่งรองแม่ทัพภาคที่ 4 ได้บันทึกถ้อยคำไว้ โดยในวันที่ได้มาเบิกความนั้น เป็นคนหนึ่งที่กล้ามาเบิกความ และเป็นคนเดียวในวันนั้น ที่กล้าติในทำนองไม่เห็นด้วย ซึ่งหากเชื่อท่านภาคใต้ เราไม่นองเลือดอย่างทุกวันนี้

นายชวน กล่าวว่า ผลจากวันนั้น คือที่มาของเหตุการณ์ 4 ม.ค. 2547 คือวันที่มีการปล้นปืนได้ไป 400 กว่ากระบอก นี่คือที่มาของเหตุร้าย ที่ผ่านมามีประชาชนเสียชีวิตไปกว่า 5,700 คน อันเกิดผลจากความผิดพลาดของนโยบาย ซึ่งทางนายทักษิณก็เคยยอมรับว่าผิดพลาดจริง ๆ ศาลจึงเห็นว่าตนในฐานะเป็นนักการเมือง มีประสบการณ์เรื่องนี้ และในสำนวนระบุว่า ผมได้ไปเห็นด้วยตัวเองในเรื่องนี้ที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งได้มีการนัดสืบพยานทั้งหมด ศาลจึงเห็นว่าผมมีสิทธิที่จะให้ความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ได้

นายชวน กล่าวต่อว่า ผมไม่อยากให้ขาดอายุความ เพราะคดีมีขึ้นแล้ว ก็ให้สืบพยานให้จบว่าจะลงเอยอย่างไร คดีจะได้จบยุติ โดยศาลเป็นผู้ใช้ดุลพินิจ

เมื่อถามถึงประเด็นไฟใต้ นายชวน กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวจะต้องรอดู ความผิดพลาดจากนโยบาย 8 เม.ย. 2544 เป็นที่มาของความสูญเสียถึงชีวิต แต่รัฐบาลชุดของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะไปไกลขนาดไหน จะต้องดูว่าเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประมาณ 40 ครั้ง ก็คงไม่ธรรมดา.