เมื่อวันที่ 26 มี.ค. พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติหลักการตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอของบอาหารกลางวัน จำนวน 2,955 ล้านบาท ในกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาส จำนวน 7,344 แห่ง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรุงเทพมหานคร และกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) รวม 575,983 คน ซึ่งจะเป็นงบประมาณในปี 2568 สำหรับจำนวนนักเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 จำนวนนักเรียน 1-40 คน จำนวน 36 บาท/คน/วัน นักเรียนจำนวน 41-100 คน จำนวน 27 บาท/คน/วัน จำนวนนักเรียน 101-120 คน จำนวน 24/บาท/คน/วัน จำนวนนักเรียน 120 คนขึ้นไป จำนวน 22/บาท/คน/วัน 

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบการจ้างนักการภารโรงให้ทุกโรงเรียนที่ขาด จำนวน 14,210 อัตรา เป็นเงิน 639,450,000 บาท หรืออัตราละ 9,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะอยู่ในปีงบประมาณ 2568 เช่นเดียวกัน แต่ในส่วนของการดำเนินการเรื่องงบนักการภารโรงในปี 2567 นั้น ขณะนี้ ศธ. ได้จัดทำคำของบประมาณไปที่สภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ ดังนั้นเราจึงจัดทำเป็นคำของบเพิ่มเติมมาที่นายกรัฐมนตรี และเท่าที่ทราบ นายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในส่วนของงบจ้างนักการภารโรงของปี 2567 แล้ว โดยขั้นตอนต่อจากนี้ไปจะนำการจัดทำคำของบเพิ่มเติมไปที่สำนักงบประมาณและส่งผ่านมายัง ศธ. หลังจากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุม ครม. อนุมัติอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร สำหรับงบจ้างนักการภารโรงจะเริ่มจ้างได้ในวันที่ 1 พ.ค. 2567 ถึง 30 ก.ย. 2567 และในงบประมาณปี 2568 ยังจะมีการดำเนินการจ้างอีกจำนวน 25,370 อัตรา เป็นเงินจำนวน 2,739,960,000 บาท ซึ่งจะสามารถดำเนินการจ้างได้ในวันที่ 1 ต.ค. 2567 ถึง 30 ก.ย. 2568 จากนั้นก็จะดำเนินการเตรียมการเพื่อของบประมาณในปีต่อๆ ไปอีกด้วย

ด้านนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สำหรับการที่ประชุม ครม. ได้อนุมัติงบประมาณทั้งสองรายการตามที่ ศธ. เสนอนั้น ได้ใช้หลัการติดตามคสบคุมคุณภาพ โดยสามารถสังเกตได้เลยว่าระบบที่ สพฐ. วางไว้ หลังจากมีประเด็นร้องเรียนเรื่องการจัดทำเมนูอาหารกลางวันไม่โปร่งใส่ ขาดหลักโภชนาการนั้น ขณะนี้ไม่มีประเด็นการร้องเรียนมาอีก เพราะกระบวนการที่เราประสานงานในพื้นที่ และทำความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เข้ามาตรวจสอบการจัดทำอาหารกลางวันร่วมกับโรงเรียน แนวทางปฏิบัติเมนูอาหารกลางวันในการแนะนำการจัดทำเมนูอาหารให้โรงเรียนเข้าใจมากขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่าคุณภาพอาหารกลางวันจะดีขึ้น และการจ้างนักการภารโรง ก็จะช่วยลดภาระของครูด้วย