เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระกระทู้ถามทั่วไปของ นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ตั้งกระทู้ถามสด พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เรื่องขอทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษานอกเรือนจำ ซึ่งกระทู้นี้ได้เคยตั้งถามไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2566

โดยนายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนเป็น สส.มา 5 ปี ไม่เคยเจอการประท้วงทั้งที่ยังไม่ทันได้เริ่มต้นจะอภิปราย ตนมีทั้งประสบการณ์ตั้งกระทู้ถามสดทั่วไปและกระทู้เฉพาะ ตนเข้าใจเรื่องการพาดพิง กระทู้เรื่องนี้มีการตั้งไว้นานแล้ว แม้สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปแล้วแต่ ยืนยันว่าจะถามให้สอดคล้องกับสถานการณ์และอยู่ในขอบข่ายอำนาจของรัฐมนตรีที่จะตอบได้อย่างแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่นายรังสิมันต์ เอ่ยชื่อถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทำให้ สส.พรรคเพื่อไทย อาทิ นายไชยวัตร ติณรัตน์ สส.มหาสารคาม ลุกขึ้นประท้วงไปยังประธานที่ประชุมว่า ตนได้กล่าวนำไปแล้วว่าหากไม่จำเป็นอย่าเอ่ยชื่อบุคคลภายนอก ตนขอเพราะคนภายนอกไม่สามารถมาชี้แจงในสภาได้

นายวันมูหะมัดนอร์ ในฐานะประธานการประชุม จึงวินิจฉัยว่า ไม่สามารถให้เอ่ยชื่อบุคคลภายนอกได้ เพราะบุคคลภายนอกไม่สามารถจะมาตอบได้ แต่อนุญาตให้พูดว่า นายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งแทนได้

นายรังสิมันต์ จึงกล่าวว่า อย่างนั้นเรียกท่านอดีตนายกฯ  “โทนี่ วู้ดซัม” ตนพยายามเลี่ยงเต็มที่เพราะการที่เอ่ยก็ไม่ได้เสียหาย แต่นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ท่านวินิจฉัยเองว่าไม่ได้เสีย แต่คนฟังข้างนอกอาจจะเกิดความเสียหายได้ คำว่า “โทนี่ วู้ดซัม”  ก็ไม่อยากให้ใช้ ทำให้นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เอาว่าเป็นที่รู้กันพักรักษาตัวอยู่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ

จากนั้นนายรังสิมันต์ อภิปรายต่อว่า เราเข้าใจดีว่ากระบวนการที่อดีตนายกรัฐมนตรีเข้าสู่ประเทศไทยและก่อนหน้านั้นต้องเจออะไรมาบ้างตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 2549 ต้องยอมรับว่าสถานการณ์วันนั้นจนถึงปัจจุบันมีความอยุติธรรมเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งความอยุติธรรมเหล่านั้นเป็นผลสืบเนื่องจากรัฐประหาร 2549  และความอยุติธรรมเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นต่อวงศ์ตระกูลของอดีตนายกรัฐมนตรีเพียงอย่างเดียวแต่ประชาชนจำนวนมากก็ได้รับความไม่เป็นธรรมในลักษณะเดียวกัน การที่อดีตนายกรัฐมนตรีมาพักอาศัยอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 ซึ่งจากที่ตนตรวจสอบมาชั้น 14 ดังกล่าวห้องพักเป็นห้องพักในลักษณะวีไอพีนำมาสู่คำถามสังคมแน่นอนว่าตกลงแล้วคือมาตรฐานใหม่ที่ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมคนอื่น ไม่สามารถได้รับสิทธิในลักษณะนี้ได้

“หมายความว่า กระบวนการยุติธรรมเรามีหลายมาตรฐาน และหากพิจารณาในแง่ของกฎหมายตามกฎกระทรวงข้อที่ 4 ในปี 2563 เขียนไว้ชัดเจนว่าเมื่อผู้บัญชาการเรือนจำอนุญาต ผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ต้องตรวจสอบสิทธิรักษาของผู้ต้องขังให้เป็นไปตามที่ทางราชการจัดให้ และห้ามผู้ต้องขังเข้าอยู่ในห้องพักพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่การรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่รักษาของผู้ต้องขังตามข้อ 3 จัดให้” นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนขอตั้งคำถามว่า 1. การที่อดีตนายกรัฐมนตรีพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจและไม่พักห้องอื่น ปลอดภัยน้อยกว่าชั้น 14 อย่างไร 2. ท่านสามารถแสดงให้ที่ประชุมของสภาแห่งนี้เห็นได้หรือไม่ว่า ห้องพักชั้น 14 ที่อดีตนายกรัฐมนตรีรักษาตัวมีสภาพเป็นเช่นไร 3. ทำไมถึงมีความจำเป็นต้องแยกตัวอดีตนายกรัฐมนตรีออกจากผู้รักษาตัวคนอื่นๆ เพราะโดยหลักตามกฎกระทรวง ต้องรักษาตัวร่วมกับผู้รักษาตัวท่านอื่น หากจะแยกต้องเป็นการควบคุมพิเศษและต้องมีเหตุผลรองรับว่า คืออะไร ถ้าจะอ้างว่าคาร์บอมบ์ต้องมีหลักฐานยืนยันข้ออ้างดังกล่าว และ 4. กรณีนายเอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นฝีในตับซึ่งร้ายแรง ทางราชทัณฑ์ส่งตัวไปรักษาโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ยังไม่ทันหายก็รีบส่งตัวกลับเรือนจำ อยากถามว่าร้ายแรงน้อยกว่าอดีตนายกรัฐมนตรีอย่างไร ส่วนการจะนำข้อมูลสุขภาพมาเปิดไม่ใช่เรื่องแต่ตนขอทราบชื่อแพทย์ที่รับรองการรักษาอดีตนายกรัฐมนตรีเพราะหากเรื่องนี้มีการทุจริตเกิดขึ้น เราจะได้สามารถดำเนินการกับตัวหมอได้ ยืนยันว่า พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ไม่ห้ามเปิดเผยชื่อแพทย์อย่างแน่นอน.