เมื่อวันที่ 28 มี.ค. นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับมอบหมายจากนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. ให้เป็นประธานงานแถลงข่าว “ความสำเร็จโครงการลดการปล่อยน้ำเสียสู่สาธารณะเป็นศูนย์ หรือ Zero Wastewater Discharge” ระหว่างหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาต้นแบบระบบบำบัดน้ำทิ้งเป็นศูนย์ ให้เกิดศูนย์การเรียนรู้ระบบการบำบัดน้ำเพื่อการหมุนเวียนน้ำทิ้งนำกลับมาใช้ประโยชน์ และการทิ้งน้ำเป็นศูนย์ในอุตสาหกรรมอาหาร พร้อมทั้งเยี่ยมชมกระบวนการบำบัดน้ำเสีย (WWTP) และกระบวนการผลิตน้ำ (UF-RO) โดยมี รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. คุณสุทธิเดช อมรเกษมวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป คุณอดัม เบรนนัน ผอ.กลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป คณะผู้บริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ห้องประชุม C201 ชั้น 2 บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร

นางสาวสุชาดา กล่าวว่า โครงการลดการปล่อยน้ำเสียสู่สาธารณะเป็นศูนย์ หรือ Zero Wastewater Discharge เป็นโครงการวิจัยภายใต้กระทรวง อว. โดย บพข. ร่วมกับบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาต้นแบบระบบบำบัดน้ำเสียจากอุตสาหกรรมอาหารทะเล โดยไม่ปล่อยน้ำเสียสู่สาธารณะแม้แต่หยดเดียว ถือเป็นโรงงานอุตสาหกรรมอาหารทะเลแห่งแรกของโลกที่ทำสำเร็จ ทำให้สามารถลดต้นทุนในการบำบัดน้ำ และนำน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ อีกทั้งยังช่วยลดการปล่อยน้ำทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทยตามยุทธศาสตร์ของกระทรวง อว. ที่นางสาวศุภมาส รมว.อว. มุ่งสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมโดยเน้นประเด็นสำคัญของประเทศ ได้แก่ การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Go Green) ความพอเพียงและความยั่งยืน (Sustainability) ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) พลังงานสะอาด เศรษฐกิจชีวภาพ และตามนโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG (Sustainable Development Goals) ในปี พ.ศ. 2573

“โครงการวิจัยจากทุน บพข. นี้ เป็นงานวิจัยที่ตอบโจทย์ ตรงต่อความต้องการของภาคเอกชนผู้ใช้ประโยชน์ และระบบบำบัดน้ำ Zero Wastewater Discharge ยังเตรียมพัฒนาเป็น “ระบบการบำบัดน้ำเพื่อการหมุนเวียนน้ำทิ้งนำกลับมาใช้ประโยชน์ การทิ้งน้ำเป็นศูนย์” ที่สามารถส่งต่อเทคโนโลยี และองค์ความรู้ไปสู่ผู้ประกอบการรายอื่น หรือ สนับสนุน SME ในอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำในปริมาณมาก ขอขอบคุณ บพข. ทีมนักวิจัยทั้งจากไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป และมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการวิจัย จนเกิดเป็นผลงานที่โดดเด่น และส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรม” นางสาวสุชาดา กล่าว

รศ.ดร.ธงชัย กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการให้ทุนผ่านแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE) ของ บพข. ซึ่งมุ่งเน้นการขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่เติบโตขึ้นจากการใช้นวัตกรรมการผลิตที่สะอาด ลดการใช้ทรัพยากร เพิ่มการหมุนเวียนวัสดุและเพิ่มคุณค่าการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โครงการนี้เป็นตัวอย่างของการนำนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ดีของรูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีภายในประเทศ ให้ผู้ประกอบการทุกระดับ โดย “ศูนย์เรียนรู้ระบบการบำบัดน้ำเพื่อการหมุนเวียนน้ำทิ้งนำกลับมาใช้ประโยชน์ การทิ้งน้ำเป็นศูนย์” ที่กำลังจะเปิดให้บริการจะช่วยการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ตรงตามเจตนารมณ์และภารกิจของ บพข. ในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงสร้างความร่วมมือและร่วมลงทุนในการวิจัยและนวัตกรรมให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศต่อไป

นายสุทธิเดช กล่าวว่า โครงการนี้ใช้เงินลงทุนวิจัยและพัฒนารวม 12 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินทุนตั้งต้นจาก บพข. 3.6 ล้านบาท และไทยยูเนี่ยน 8.4 ล้านบาท โดยโครงการนำร่อง Zero Wastewater Discharge ของไทยยูเนี่ยน ตั้งอยู่ที่โรงงานไทยยูเนี่ยน สำนักงานใหญ่ จังหวัดสมุทรสาคร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 155,000 ตารางเมตร เริ่มทดลองระบบมาตั้งแต่ปลายปี 2566 โดยสามารถบริหารจัดการน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตจากวันละ 9 ล้านลิตร ปัจจุบันไทยยูเนี่ยนใช้น้ำเพียงวันละ 3 ล้านลิตรเท่านั้น ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึงปีละประมาณ 27.8 ล้านบาท

“สำหรับแนวทางการดำเนินงานระบบบำบัดน้ำทิ้งให้เป็นศูนย์ของไทยยูเนี่ยนคือการใช้ระบบบริหารจัดการที่ต้นทางทั้งในส่วนวิศวกรรมและกระบวนการผลิตพร้อมปรับปรุงคุณภาพน้ำให้เทียบเท่าและใช้แทนน้ำประปาได้ เริ่มตั้งแต่การดูแลให้เกิดของเสียน้อยที่สุดก่อนนำมาบำบัด ด้วยการแยกเลือดปลาและน้ำนึ่งปลาจนสามารถลดไขมันและเลือดปลาที่ปะปนมาในน้ำทิ้งให้น้อยลงได้ และใช้การกรองโดยระบบ Ultra Filtration (UF) จากนั้นนำไปผ่านระบบ Reverse Osmosis (RO) เพื่อให้ได้น้ำสะอาดกลับออกมาเป็นน้ำใช้ในระบบทำความเย็นของโรงงานที่ต้องการคุณภาพน้ำสะอาดที่มากกว่าน้ำทั่วไป ส่วนน้ำทิ้งจากกระบวนการ RO ที่ยังมีคุณภาพน้ำที่ดีจะถูกนำไปล้างพื้น ทำความสะอาดรถบรรทุกหรือล้อรถบรรทุก โดยน้ำที่ถูกนำไปใช้ทำความสะอาดเสร็จแล้วจะถูกหมุนเวียนกลับเข้าระบบ UF และ RO ไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้เหลือทิ้งออกสู่ภายนอก” นายสุทธิเดช ระบุ