เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม มีการพิจารณาเรื่องด่วน คือ ร่าง พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ….ที่สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นชอบแล้ว

โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี  ได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ว่า ในนามผู้แทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอชี้แจงร่างพ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อให้ที่ประชุมรับไว้พิจารณา ดังนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 มีจำนวน 22 ร่างมาตรา โดยผ่านการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผ่านการพิจารณาตรวจร่าง จากคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นที่เรียบร้อย จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 66 และเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตามลำดับ

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2567 ได้มีการแก้ไขจากร่างฉบับเดิม ที่เสนอโดย ครม. จำนวน 5 มาตรา ได้แก่ มาตรา 6 มาตรา 9 มาตรา 11 มาตรา 12 และมาตรา 20 ซึ่งเป็นการแก้ไขรายละเอียดเพียงเล็กน้อย ไม่ได้กระทบในสาระสำคัญของกฎหมายแต่อย่างใด รายละเอียดปรากฏตาม ร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ มีการปรับปรุงแก้ไขหน้าที่ และอำนาจการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ป.ป.ท. และสำนักงาน ป.ป.ท. ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

“มีการแก้ไขนิยามคำว่า “ประพฤติมิชอบ” พร้อมมีการกำหนดระยะเวลาดําเนินการไต่สวนให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น และให้เริ่มดําเนินการไต่สวนภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง รวมถึงกำหนดหน้าที่และอำนาจในการออกหมายจับ และอํานาจในการจับกุมผู้กระทําผิด ที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลความผิด และผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์หลบหนี นอกจากนี้ ยังกำหนดให้สำนักงาน ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ผู้ไต่สวนคดี กรณีถูกฟ้อง หรือถูกดำเนินคดีจากการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงเป็นการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ครอบคลุมการตรวจสอบ การกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกมิติ ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ทำให้สามารถสกัดกั้นการทุจริต และประพฤติมิชอบในสังคมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตนจึงขอให้ที่ประชุมวุฒิสภา ร่วมกันพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการพิจารณา ที่ประชุมวุฒิสภา ได้มีมติเห็นชอบ ด้วยคะแนน 197 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ที่ประชุมจึงเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ไว้พิจารณา และตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จำนวน 26 คน เพื่อพิจารณา ในวาระที่ 2 ต่อไป