เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงกรณีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ระบุการที่ราคายางพาราประเทศไทยพุ่งสูง ไม่ได้มาจากการปราบยางเถื่อนยางเดียว แต่ยังมีเรื่องผลผลิตยางในตลาดโลกน้อยด้วย ว่า ราคายางไทยที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากการร่วมมือกับทหารจับยางเถื่อนตามตะเข็บแนวชายแดน ไม่ให้นำเข้าประเทศไทยได้ ทำให้ปริมาณยางลดลง เป็นเหตุให้ราคายางสูงขึ้น ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนาจัดระบบการซื้อยาง ตลอดจนการหารือกับประเทศผู้ใช้ยางพาราอย่าง  จีน ญี่ปุ่น เพื่อผลิตยางพาราให้ได้สินค้าตรงตามมาตรฐานในระดับสากลโลก ทำให้ราคายางประเทศไทยปี 2567 พุ่งสูงสุดรอบ 7 ปี ราคาวันที่ 19 มี.ค. 2567 อยู่ที่ 94.44 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ขณะนี้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ชี้นำราคายางตลาดโลก

รมว.เกษตรฯ กล่าวต่อว่า ขณะที่นโยบายแปลง ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตรนั้น ยืนยันว่ามีการศึกษามาก่อนจะกำหนดเป็นนโยบาย อย่าด้อยค่าโครงการ เป็นเรื่องนโยบายที่ทำให้เกษตรกรมีความสุขได้ถือโฉนดเพื่อการเกษตร แต่กรรมสิทธิ์ที่ดินยังเป็นของส.ป.ก.4-01  ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้วงเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้น.