เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี กล่าวถึงกรณีสถานการณ์โรคและการเจ็บป่วยจากสารแคดเมียมในประเทศไทย ภายหลังมีรายงานข่าว มีบริษัทแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร มีการเก็บกากแร่สังกะสีและกากแร่แคดเมียมไว้กว่าหมื่นตัน ว่า การวินิจฉัยว่าป่วยจากแคดเมียมหรือไม่นั้น ทำไม่ได้ง่าย แต่ขณะนี้ในประเทศไทยยังไม่พบผู้ป่วยจากแคดเมียม อย่างในพื้นที่ที่มีโรงงาน มีเหมืองแร่ที่สกัดสังกะสี และเคยมีปัญหาแคดเมียมปนเปื้อนในดิน น้ำ ก็มีการสำรวจประชาชนในพื้นที่จังหวัดตาก พบการทำงานของร่างกายผิดปกติ ที่เกิดจากแคดเมียมบ้าง แต่โรคที่เป็นพิษจากแคดเมียมชัดๆ เลยนั้นไม่มี

ศ.นพ.วินัย กล่าวต่อว่า อาการผิดปกติแบบเฉียบพลันที่เกิดจากแคดเมียม ส่วนใหญ่เป็นการสัมผัสไอแคดเมียม คือต้องมีการเผาไหม้ ต้องมีการถลุงจนทำให้กลายเป็นไอ หากสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ โอกาสที่จะรับประทานเข้าไปไม่เคยเห็นเลย จริงๆ สิ่งที่เรากังวลมากกว่า ไม่ใช่ภาวะเฉียบพลัน แต่เป็นภาวะที่เกิดจากการรับ หรือสัมผัสในปริมาณไม่สูงมากนัก แต่รับเรื้อรังไปนานๆ หลายปี จะมีปัญหากับการทำงานของไตผิดปกติ ทำให้ไตสูญเสียการสร้างวิตามินดี คนไข้จะมีปัญหากระดูกที่เกิดจากการขาดวิตามินดี โรคนี้ประเทศญี่ปุ่นเรื่องว่าโรค “อิไตอิไต” แปลว่าเจ็บ เพราะจะทำให้เจ็บจากการที่กระดูกของเขาไม่แข็งแรง ส่วนประเทศไทยยังไม่เคยเจอโรคนี้

“ที่ผมบอกว่า เจอผิดปกติบ้าง จากการสำรวจในไทย ซึ่งหลายปีแล้ว มีการศึกษาโดยการตรวจปัสสาวะประชาชนในพื้นที่ตรงนั้น เพื่อจะบ่งบอกว่ามีความผิดปกติของไตหรือไม่ แต่ที่เป็นโรคชัดๆ นั้นไม่มี หรือมีน้อยมาก แต่ไม่ถึงกับเป็นปัญหาใหญ่”  ศ.นพ.วินัย กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่การทำเหมืองแร่ แล้วพบแคดเมียมในประชาชน หรือพบในพื้นที่ ก็อาจจะยังไม่สามารถสรุปได้ว่า เกิดจากการรั่วไหลจากการถลุงหรือไม่ หรือที่จริงๆ แล้ว เปลือกโลกตรงนั้น มีแร่สังกะสี แร่แคดเมียมอยู่ ยังเป็นข้อสรุปที่ไม่ชัดเจน แต่ส่วนที่จะก่อปัญหาจริงๆ ตนมองว่า น่าจะแคดเมียมจากโรงงานที่เกิดจากการถลุงแร่แล้วเกิดการฟุ้งกระจายถึงจะก่ออันตรายต่อสุขภาพแบบเฉียบพลัน หากไม่มีการถลุงก็ไม่เกิด หรือไม่ได้ทำให้เกิดละอองเล็กมาก ถึงจะเข้าไปในปอดคนได้ ปัญหาคงอยู่ที่ว่า จะจัดเก็บอย่างไรไม่ให้กระจายสู่สิ่งแวดล้อมมากกว่า.