วันที่ 10 เมษายน 2567 ณ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ก่อนบรรจุเป็น “น้ำทิพย์ปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่” เนื่องในประเพณีสงกรานต์และร่วมฉลอง 728 ปี เมืองเชียงใหม่ โดยมีกำหนดแจกจ่ายฟรี ในวันที่ 12-16 เม.ย. 67 ใน 6 จุด ทั่วเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ ศูนย์การค้า เซ็นทรัลเชียงใหม่, ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงใหม่ แอร์พอร์ต, วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร, วัดบุพพาราม, วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร, วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวิหาร จำนวน 10,728 ขวด

ในกิจกรรม “น้ำทิพย์ปีใหม่เมืองเจียงใหม่” ปีนี้ ททท. ร่วมส่งเสริมและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนบ้านเหมืองกุง ผู้เริ่มต้นในการรื้อฟื้นวัฒนธรรมการใช้หม้อดอกที่สูญหายให้กลับคืนมามีบทบาทและความสำคัญในเทศกาลสงกรานต์อีกครั้ง โดยชุมชนบ้านเหมืองกุงได้เป็นผู้ออกแบบรังสรรค์หม้อดอกด้วยลวดลายพญานาค 9 ลาย จำนวน 18 ใบ ในการประกอบพิธีอัญเชิญน้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 9 แหล่ง ประกอบด้วย น้ำจากวัดพุทธเอ้น อ.แม่แจ่ม, อ่างกาหลวง (อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์) อ.จอมทอง, วัดผาลาด อ.เมืองเชียงใหม่, วัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ อ.แม่แตง, บ่อน้ำช้างศึกสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อ.เวียงแหง, ขุนน้ำแม่ปิง (อุทยานแห่งชาติผาแดง) อ.เชียงดาว, วัดเจดีย์เหลี่ยม อ.สารภี, วัดบุพพาราม อ.เมืองเชียงใหม่ และวัดดับภัย อ. เมืองเชียงใหม่

จากนั้นได้นำมาประกอบพิธีจุมน้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อเวลา 09.09 น. ตามจารีตประเพณีล้านนาโบราณ โดยมี นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน มีนางสาวภัทรอนงค์ ณ เชียงใหม่ ผู้อำนวยการภูมิภาคเหนนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, นายนักปราชญ์ ไชยานนท์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่, นางพัศสินทร์ เศวตรัตน์ ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานเชียงใหม่, นายธันยา สุธาพันธ์ ปลัดอำเภอเมืองเชียงใหม่, นางสาวสุทารัตน์ สุดเขต รองปลัดเทศบาลนครเชียงใหม่, ว่าที่ร้อยเอก สันติพงษ์ บุลยเลิศ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่, นายธวัชชัย อุบลพิทักษ์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และศาสตราจารย์ปฏิบัติ ดร.เอกชัย มหาเอก รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมอัญเชิญน้ำทิพย์จากวัดสำคัญต่างๆ นำมาเทรวมกัน จากนั้นจะมีพิธีสวดเจริญพุทธมนต์น้ำทิพย์พุทธาภิเษกเในเวลา 19.09 น. ณ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร

คำว่า “จุม” คือการนำเอามารวมกัน ผสมกัน เพื่อนำมาประกอบพิธีปลุกเสกตามความเชื่อแบบล้านนาให้เป็นน้ำทิพย์ “ปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ ประจำปี 2567” นอกจากนี้ “หม้อดอก” หรือ “หม้อปูรณฆฏะ” ที่ใช้บรรจุน้ำทิพย์มาจากวัดต่างๆ นั้น ได้ผลิตมาจากหมู่บ้านเหมืองกุง อ.หางดง เดิมเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีการปั้นน้ำต้นและหม้อน้ำมานานกว่า 200 ปี ชาวบ้านเหมืองกุงส่วนหนึ่งพื้นเพเป็นชาวไทใหญ่ที่อพยพมาจากรัฐเชียงตุง ปัจจุบันชาวบ้านเหมืองกุงยังคงสืบสานในการอนุรักษ์การทำเครื่องปั้นดินเผาแบบดั้งเดิมไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชม โดยผลิตภัณฑ์เด่นของหมู่บ้านคือ “หม้อดอก” หรือคนโทใส่น้ำบ้านเหมืองกุงมีเทคนิคในการขัดเงาเครื่องปั้นดินเผาที่ไม่เหมือนที่ไหน คือใช้ก้อนหินจากลำธารมาขัดบนเครื่องปั้นดินเผาเบาๆ ก็ทำให้ผิวขึ้นเงาอย่างง่ายดาย “หม้อดอก” หรือ “หม้อปูรณฆฏะ” หมายถึง หม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์และความเจริญงอกงาม ในล้านนาหม้อดอกเป็นพุทธสัญลักษณ์สำคัญแห่งล้านนา โดยถูกนำมาใช้ในทางพุทธศาสนาเพื่อเป็นเครื่องบูชา สักการะพระรัตนตรัย โดยจะปรากฏหม้อดอกในสถาปัตยกรรมศาสนสถานตาม จิตกรรมฝาผนังในวิหารต่างๆ ในอดีตหม้อดอกกับเทศกาลปีใหม่เมือง คนล้านนาจะเปลี่ยนหม้อดอกในวันสังขานต์ล่องในหม้อ จะใส่ทรายและน้ำ ก่อนนำใบหมากผู้หมากเมีย ดอกเอื้องผึ้ง มาปักในหม้อดอกและประดับด้วยช่อตุงสีต่างๆ ถือเป็นหนึ่งกิจกรรมที่ในอดีตที่ทำกันทุกบ้านหลังคาเรือน เพื่อสักการะและเป็นการบอกกล่าวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถึงการเข้าสู่ ปีใหม่เมืองอีกครั้ง ซึ่งจารีตดังกล่าวแทบจะสูญหายไปแล้วในสังคมคนรุ่นใหม่

นอกจากนี้ ในวันที่ 12 เมษายน 2567 จะมีขบวนแห่อัญเชิญน้ำทิพย์นมัสการพระพุทธสิหิงค์ เพื่อเป็นสิริมงคลเนื่องในเทศกาล “ปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่ มหาสงกรานต์ล้านนา” วันที่ 13 เมษายน 2567 พิธีอัญเชิญ “พระพุทธสิหิงค์” พระสำคัญคู่บ้านคู่เมืองเมืองเชียงใหม่ ขึ้นรถบุศบก ณ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเมืองเชียงใหม่ และพิธีอัญเชิญน้ำทิพย์ เบิกฤกษ์ ประพรม “พุทธสิหิงค์” และวันที่ 16 เมษายน 2567 ขบวนแห่ “สระเกล้าดำหัวป้อเมืองเชียงใหม่” ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

สำหรับน้ำทิพย์ที่จะนำมาแจกจ่ายให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว จะนำไปจัดวางไว้ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ เซ็นทรัลเฟสติวัลเชียงใหม่, เซ็นทรัลเชียงใหม่ แอร์พอร์ต, วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร, วัดบุพพาราม, วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร และวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เพื่อฉลองเมืองเชียงใหม่ครบรอบ 728 ปี และเสริมสิริมงคลในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือประชาชนและนักท่องเที่ยวที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลการจัดกิจกรรมน้ำทิพย์ปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่ ได้ที่ ททท. สำนักงานเชียงใหม่ โทร. 0-5324-8604 หรือเฟซบุ๊ก : ททท. สำนักงานเชียงใหม่