สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 12 เม.ย. ว่า นายโนบุยูกิ คาวาอิ ศาสตราจารย์ด้านประชากรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนาโกยา และผู้เขียนนำของงานศึกษา ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Scientific Reports ในสัปดาห์นี้ กล่าวว่า เดิมทีวิธีดังกล่าวคาดว่า จะระงับความโกรธได้ในระดับหนึ่ง แต่พวกเขาประหลาดใจมากที่พบว่า ความโกรธหายไปเกือบทั้งหมด

อนึ่ง นักศึกษาประมาณ 100 คนที่เข้าร่วมการทดลอง ถูกขอให้เขียนความคิดเห็นสั้น ๆ เกี่ยวกับประเด็นทางสังคม เช่น การสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ซึ่งทีมนักวิจัยกล่าวว่า นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยนาโกยา จะเป็นผู้ประเมินงานเขียนของพวกเขา

แต่ไม่ว่าผู้เข้าร่วมจะเขียนอะไร ผู้ประเมินจะให้ “คะแนนต่ำ” ในทุกด้าน ทั้งความฉลาด, ความสนใจ, ความเป็นมิตร, ตรรกะ และเหตุผล รวมถึงแสดงความเห็นตอบกลับในเชิงดูถูกเหยียดยาม เพื่อทำให้ผู้เข้าร่วมการทดลองรู้สึกไม่พอใจมากที่สุด หรือโกรธเคือง

หลังจากนั้น นักศึกษาทุกคนจะเขียนความรู้สึกของพวกเขาลงในกระดาษ และแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งจะทำลายกระดาษเหล่านั้นทิ้ง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะใส่กระดาษไว้ในแฟ้ม หรือกล่องใส

ทั้งนี้ งานศึกษาระบุว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งหมด “แสดงระดับความโกรธที่เพิ่มขึ้น” หลังจากโดนดูถูก ซึ่งกลุ่มนักศึกษาที่เก็บกระดาษ ยังคงมีความโกรธในระดับสูง ขณะที่กลุ่มทำลายกระดาษ มีความโกรธลดลงจนถึงระดับที่เป็นกลาง หรือแทบไม่รู้สึกโกรธอีกต่อไป

ด้านทีมนักวิจัย กล่าวเสริมว่า การค้นพบของพวกเขา สามารถนำไปใช้เป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดการความโกรธเฉพาะหน้า ซึ่งการควบคุมความโกรธที่บ้าน และในสถานที่ทำงานนั้น สามารถลดผลกระทบด้านลบในอาชีพการงาน และชีวิตส่วนตัวได้เช่นกัน.

เครดิตภาพ : AFP