นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยถึงกรณีค่าบาทอ่อนและตลาดหุ้นตกลงมากว่า เรื่องนี้เกิดจากปัจจัยภายนอก ซึ่งมาจากปัญหาสงครามในตะวันออกกลาง ซึ่งก็เป็นไปตามวัฏจักร โดยหุ้นตก ค่าบาทอ่อนไม่ได้มาจากปัจจัยภายในประเทศ หรือปัญหาความไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับโครงการของรัฐ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงการคลัง ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นอย่างใกล้ชิด ว่าจะมีผลกระทบต่อไทยอย่างไร ขณะที่เรื่องราคาน้ำมัน ก็มีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงคอยกำกับดูแลอยู่ โดยในส่วนของกระทรวงการคลัง ยังไม่ได้มีการต่ออายุลดภาษีดีเซลเพิ่มเติมในขณะนี้

นายพรชัย  ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค. ได้ติดตามและประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่านอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่สถานการณ์ความขัดแย้งเริ่มเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 67 โดย สศค. ประเมินว่าความขัดแย้งดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่มาก ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งที่อยู่ในวงจำกัด และการหาทางออกของความขัดแย้งของประเทศต่าง ๆ ทำให้สถานการณ์มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะเกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ ดังนี้ ตลาดเงินและตลาดทุนโลกและไทยที่มีความผันผวน โดยจะเห็นได้ว่า สถานการณ์ความขัดแย้ง ทำให้ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกมีความผันผวนที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนได้จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลักของโลก ที่ปรับตัวลดลงในช่วงวันหยุดสงกรานต์ของไทย และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น สะท้อนการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปสู่สินทรัพย์หลักที่นักลงทุนประเมินว่ามีความเสี่ยงต่ำ  

ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยพบว่า ราคาน้ำมันดิบและราคาทองคำปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น หลังเหตุการณ์ความขัดแย้ง แต่ภายหลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ราคาน้ำมันดิบได้ลดลงอยู่ 85-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เท่ากับช่วงก่อนเกิดเหตุ ซึ่งอิหร่านมีสัดส่วนส่งออกน้ำมันดิบเพียง 1.5% ของทั้งโลก จึงประเมินหากสถานการณ์ความขัดแย้งไม่ลุกลาม จะไม่ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ด้านการค้าระหว่างประเทศของไทย ได้รับผลกระทบน้อย มีสัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศอิสราเอลและอิหร่าน เพียง 0.27% และ 0.05% ของมูลค่าการส่งออก ขณะที่การนำเข้าของไทยจากประเทศอิสราเอลและอิหร่าน มีสัดส่วนที่ต่ำ ด้านการท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบน้อย เพราะมีสัดส่วนทั้งจำนวนและรายได้เพียง 1% เช่นเดียวกับเรื่องการลงทุนของไทยกับอิสราเอลและอิหร่าน ยังมีมูลค่าที่น้อย โดยเงินลงทุนโดยตรงจากอิหร่านในไทย ปี 66 มีมูลค่า 16.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การลงทุนระหว่างไทยและกลุ่มตะวันออกกลาง มีมูลค่า 714.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ