สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี จัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจแห่งอนาคต EVAT x EGAT Electric Motorcycle Conversion Contest for Business Opportunity ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

การแข่งขันครั้งนี้มีผู้เข้าแข่งขันรวมทั้งสิ้น 43 ทีม แบ่งเป็นทีมประเภทสถาบันการศึกษา 31 ทีม และเป็นทีมประเภทบุคคลทั่วไป 12 ทีม ซึ่งผลการแข่งขัน ประเภทกลุ่มสถาบันการศึกษา รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม S27 PTL EV จากวิทยาลัยเทคนิคพัทลุง รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม S15 CHARAWAN RACING 2024 จากวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ทีม S07 UTCC จากวิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี ส่วนประเภทกลุ่มประชาชนทั่วไป รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม G08 วิศวกร ภาคกลาง รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม G03 Phraya Phichai EV Bike และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ทีม G04 รถไฟฟ้าสิงห์บุรี

โดยในการแข่งขันครั้งนี้เริ่มการแข่งขันภาคสนามแบ่งออกเป็น 3 สถานีหลัก เพื่อเปิดสถานีทดสอบรถ ได้แก่  E1 สถานีตรวจสภาพทางเทคนิค E2 สถานีตรวจสอบความเป็นฉนวน และ UNR 136 และ E3 สถานีทดสอบน้ำ ทั้งนี้ ได้มีจุดทดลองสนามแข่งขัน เพื่อเปิดให้ทีมที่เข้าแข่งขันได้ทดสอบพร้อมแจกอุปกรณ์วัดค่าพลังงานโดยการให้แต่ละทีมสามารถยืมอุปกรณ์ดังกล่าวไปทดสอบค่าพลังงานได้ พร้อมมีการทดสอบวิ่งรอบสนามแข่งขันรอบใหญ่ระยะทาง 1 กม. ต่อรอบ และในการแข่งขันวันที่ 27 เมษายน เป็นการเก็บคะแนนด้วยวิธีการขับขี่บนสนามเพื่อวัดค่าพลังงานหลังครบ 1 ชม. หรือเมื่อใช้พลังงานครบ 1200 วัตต์ชั่วโมง ทั้งนี้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงที่เข้าแข่งขันทุกคัน จะต้องมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 150 กก. รวมน้ำหนักผู้ขับขี่แล้ว

นายสมศักย์ ปรางทอง ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการด้านการใช้พลังงานและสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เผยว่า เป็นโอกาสอันดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งประชาชนทั่วไป ได้แสดงศักยภาพด้านวิศวกรรมและความปลอดภัยในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง เพื่อต่อยอดในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ตลอดจนเป็นการสร้างโมเดลทางธุรกิจด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นภายในประเทศ อันก่อให้เกิดการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและโมเดลธุรกิจ BCG ที่จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างยั่งยืน

ทางด้าน นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า กิจกรรมนี้จึงเป็นหนึ่งในมาตรการที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีปริมาณการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้เสนอแนวคิดและนวัตกรรมในการพัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพ พร้อมทั้งผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้า ป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังมีการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ สอดรับกับเป้าหมายของรัฐบาลไทยที่ต้องการให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าป้อนสู่ตลาดโลก