ประเด็นร้อนช่วงนี้ หลังจากมีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย โพสต์เปิดรับจ่ายบิลค่าน้ำ ค่าไฟ เพื่อแลกเป็นเงินสด ว่ากันง่ายๆ เจ้าของบิลค่าไฟ จะโอนเงินสดให้กับคนที่รับจ่ายค่าไฟ ซึ่งคนจ่ายค่าไฟให้นั้น จะใช้วิธีซื้อก่อนจ่ายทีหลัง ของ Shopee SPayLater และมีผู้สนใจกันเป็นจำนวนมาก

ในเรื่องนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้ออกมาคลายข้อสงสัยแล้วว่า สามารถทำได้หรือไม่ ผิดวัตถุประสงค์ในการให้กู้ยืมบนแพลตฟอร์มดิจิทัล พีโลน (สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล) หรือไม่ และจะเกิดความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน

เมื่อวันที่ 30 เม.ย. นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเพิ่งเกิดขึ้น พยายามเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้คุยกับผู้ให้บริการ โดยเบื้องต้น การปล่อยสินเชื่อพีโลน สามารถทำได้ ไม่ได้ติดขัดหลักเกณฑ์ เพราะอยู่ที่ตัวลูกหนี้ที่มีเครดิตกับแพลตฟอร์มอยู่แล้ว และเป็นเรื่องที่เจ้าของบิลที่ต้องจ่ายค่าไฟ ยินยอมและรับผลประโยชน์ร่วมกัน

แต่ที่ ธปท. ไปดูแลและกำชับผู้ให้บริการ คือต้องทำให้มั่นใจ เรื่องความเสี่ยง ลูกหนี้ หรือคนที่เข้ามาใช้ทำแบบนี้ จะมีความเสี่ยง หรือธุรกรรมหลอกลวงหรือไม่ เช่น เจ้าของบิลอาจถูกยกเลิกการจ่ายบิลภายหลัง หลังจากจ่ายเงินให้ลูกหนี้แพลตฟอร์ม (หรือคนที่จ่ายให้) ไปแล้ว หรือคนจะจ่ายบิลให้อาจมีความเสี่ยงไม่ได้รับเงินจากเจ้าของบิลได้

“จึงเน้นย้ำผู้ประกอบการ ถึงเรื่องไม่ให้กระทบวินัยการเงิน และเป็นไปตามสินเชื่อความรับผิดชอบอย่างเป็นธรรม และภาระดอกเบี้ยต่างๆ ต้องมีความชัดเจนและบอกลูกหนี้รู้ เพราะจะกลับมาถึงความกังวลของ ธปท. คือการใช้จ่ายเกินตัว เรื่องหนี้ครัวเรือน ถ้ามีความคืบหน้าจะแจ้งรายละเอียดให้ทราบต่อไป”

นายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เจ้าของบิลมีความเสี่ยง ถ้าลูกหนี้หรือคนที่จ่ายบิลให้เบี้ยวไม่ชำระช้อปปี้ ไม่ได้จ่ายค่าไฟให้ อาจถูกตัดน้ำตัดไฟ ธปท. ไม่ได้สนับสนุนและไม่ควรทำ

นอกจากนี้ ได้กำชับผู้ประกอบการดูแลความเสี่ยง เพราะถ้าลูกหนี้ทำมากขึ้น ผู้ประกอบการมีความเสี่ยง ธปท. ได้กำกับดูแลตรงนี้อยู่

ขณะที่ดิจิทัลพีโลน ผู้ประกอบการมีวงเงินสินเชื่อให้ลูกหนี้ ซึ่งไม่ผิดวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้อุปโภคบริโภค และเป็นการตกลงระหว่างลูกหนี้ของผู้ประกอบการและเจ้าของบิลค่าไฟเอง