เมื่อวันที่ 6 พ.ค. นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมของฝ่ายต่างๆ ว่า ที่ผ่านมาตนมีโอกาสได้คุยกับวงลับของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.โทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นประธาน ที่ได้เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมหารือทั้งคนที่อยู่ในสภา หรือนอกสภา ในทุกเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง ตนได้ให้ความคิดเห็นว่าให้ยึดโมเดลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานองคมนตรี และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ทำเรื่อง 66/2523 ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดในยุคคอมมิวนิสต์ นั่นคือนายกฯ ต้องเข้าเฝ้าฯ ในหลวง เพื่อขอคำแนะนำ และถวายรายงานเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อเริ่มต้นดำเนินการ พล.อ.เปรม เมื่อเข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานและได้รับพระราชทานคำปรึกษามา จึงสั่งการให้ พล.อ.ชวลิต เดินหน้าคุยกับสายนำในเมือง คุยทีละคน จนกระทั่งมั่นใจเชื่อใจ ก็เข้าไปฐานที่มั่นในป่า จนหยุดเสียงปืนได้ และร่วมพัฒนาชาติไทย เพราะทุกฝ่ายได้ร่วมมือกัน

นายจตุพร กล่าวต่อว่า วันนี้ถ้าให้ทุกคนแสดงจุดยืน การชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่าพันธมิตรฯ นปช. กปปส. คปท. ไม่มีใครขัดข้อง เพราะว่าในซีก กปปส. พันธมิตร หรือ นปช. ที่เป็นซีกการเมืองก็อยู่ในรัฐบาล มันจบกันไปแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเหตุการณ์ปี 63 ของเยาวชนในคดี 112 ซึ่งยกเว้นพรรคก้าวไกล ที่เหลือไม่มีใครเอาด้วย อันนี้คือข้อเท็จจริง แต่ตนเห็นว่ามันจะมีปัญหาว่าการนิรโทษกรรมโดยทิ้งเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเอาไว้ มันจะกลายเป็นปัญหาใหม่ ดังนั้นได้หรือไม่ได้อย่างไร ก็ควรให้นายกฯ กราบบังคมทูลฯ เหตุการณ์ 66/23 หนักกว่าเยอะ ฆ่ากันฝั่งละเป็นหมื่น ดังนั้นมันเทียบไม่ได้กับเรื่องวาจาที่พูด และทุกคนก็กำลังถูกดำเนินคดี จากเดิมที่ในหลวงท่านไม่เอาโทษอยู่แล้ว ไม่ดำเนินคดีถึง 3 ปี และรัฐบาลนำกลับมาใช้ใหม่ ก็ควรที่จะถวายรายงาน และมาเริ่มต้น ประเทศต้องเริ่มต้น อย่ากลัวว่าเขาจะทำซ้ำ กฎหมายก็ยังอยู่ เขียนป้องกันเบิ้ลเอาไว้ก็ยังได้ แต่ว่าบรรดาเยาวชนทั้งหลายที่โดนกันมา อายุที่เหลืออยู่ไม่เพียงพอที่จะติดคุก เพราะนับโทษทีละคดี จะเอาอายุที่ไหนไปติดคุก

“ความจริงเราเป็นคนเตือนเรื่องนี้คนแรก แต่ก็พากันมาโกรธเรา เพราะทุกฝ่ายกำลังเชียร์เด็ก เราก็บอกว่าให้ระมัดระวังเรื่องนี้ เพราะรู้ว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร เวลาชุมนุมเสร็จมันไม่เหลือใคร ผมผ่านมาตั้งแต่ปี 35 ผมรู้ มาถึงปี 53 ผมจะไม่เห็นได้อย่างไร คนรุ่นพวกนี้เหมือนรุ่นลูก ผมรู้ว่าเขาจะเจออะไร แต่วันนั้นเขายังไม่รู้ และไม่มีทางจะรู้ตัว กองเชียร์ก็มองผมตาขวาง ดังนั้นผมจึงบอกว่า ถ้าจะนิรโทษกรรมก็ต้องนิรโทษกรรมให้หมด ไม่ควรจะทิ้งใคร รวมถึงคดี 112 ด้วย เพราะหากทิ้งเรื่องนี้ ก็จะเป็นการสร้างความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ ไหนก็จะล้างกันทั้งทีแล้ว ก็ควรจะล้างกันไปในคราวเดียว ถ้าเขาทำผิดอีก กฎหมายก็ยังอยู่ เชื่อว่าไม่มีใครไม่กลัว เพราะติดคุกกันมาขนาดนี้แล้ว” นายจตุพร กล่าว