สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ว่าธนาคารโลกรายงานว่าหากทุกประเทศเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตอาหาร จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมาก ภายในสิ้นทศวรรษนี้ เนื่องจากอุตสาหกรรมเกษตรอาหารเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบ 1 ใน 3 ของโลก

นอกจากนั้น 2 ใน 3 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งครองตำแหน่ง 7 ใน 10 อันดับแรกของผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก โดย 3 ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงที่สุด ได้แก่ จีน, บราซิล และอินเดีย ตามลำดับ

นายเอเซล แวน ทรอทเซนเบิร์ก กรรมการผู้จัดการอาวุโสธนาคารโลก กล่าวว่า “เพื่อปกป้องโลก เราจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการผลิตและการบริโภคอาหาร”

โดยธนาคารโลกระบุว่า ภาคอุตสาหกรรมจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้ผ่านการดำเนินการที่ “ราคาไม่แพงและทำได้ทันที” นอกจากนี้ ยังได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ลงทุนมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา

มากไปกว่านั้น ประเทศที่มีรายได้ปานกลางควรมองหาทางเลือกใหม่ ซึ่งรวมไปถึงการทำปศุสัตว์มลพิษต่ำและการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน “เพียงแค่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางเปลี่ยนวิธีการเกษตร เช่น การใช้ป่าไม้และระบบนิเวศเพื่อการผลิตอาหาร จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 1 ใน 3 ภายในปี 2573” ทรอทเซนเบิร์กระบุ

เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การเกษตรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ ประเทศต่าง ๆ ควรพิจารณาลดการสนับสนุนสินค้าเกษตรที่สิ้นเปลือง

สำหรับประเทศรายได้สูง เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ควรดำเนินการให้มากขึ้นในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร เช่นเดียวกับการลดเงินอุดหนุนผู้ผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ในทางกลับกัน ประเทศที่มีรายได้น้อยควรลดการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง.

เครดิตภาพ : AFP