ไม่ใช่แค่เรื่องฝาท่อ ฝาบ่อพัก แต่รวมถึงพื้นผิวจราจรพัง จากการพัฒนาเมืองผ่านการก่อสร้างถนน สะพาน รถไฟฟ้าสายต่างๆ โดยมีตั้งแต่อุบัติเหตุบาดเจ็บ และเลวร้ายสุดคือเสียชีวิต

“ทีมข่าวชุมชนเมือง” มีโอกาสสอบถามข้อกฎหมายกับ นายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ทนายอั๋น บุรีรัมย์ เพื่อประโยชน์ประชาชนหากต้องเผชิญหน้าสถานการณ์ที่ตกเป็นผู้เสียหายในลักษณะเช่นนี้ โดยระบุว่า หากยกตัวอย่างเหตุการณ์ล่าสุด หน่วยงานที่เข้าข่ายรับผิดชอบคือ กฟน. ทั้งในส่วนแพ่งเรื่องของการละเมิดที่ต้องชดใช้เงินเยียวยาให้ผู้เสียหาย

ขณะที่ทางอาญา เจ้าหน้าที่ หรือพนักงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว อย่างไรก็ตาม การที่ผู้เสียหายจะแจ้งความดำเนินคดีทางอาญาต่อหน่วยงานของรัฐ เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะการพูดคุยในส่วน “ค่าเสียหาย” ทางแพ่งมากกว่า

สำหรับประชาชนสามารถเรียกร้องการเยียวยาอย่างไรได้บ้าง หากเกิดความสูญเสียไม่ว่าจะร่างกาย หรือทรัพย์สิน ในเรื่องนี้ ให้ข้อมูลว่า ผู้เสียหายหรือทายาท สามารถยื่นคำร้องขอรับการเยียวยาจากหน่วยงานรัฐ ซึ่งหากผลพิจารณาไม่เป็นไปตามคำขอ ผู้เสียหายหรือทายาท ยังสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ในเรื่องนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง และผู้เสียหายหรือทายาท สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อหน่วยงานรัฐ ผู้รับเหมา หรือผู้ปฏิบัติงานแทนหน่วยงานรัฐ ในทางแพ่งต่อศาลยุติธรรมได้ด้วย

ยกตัวอย่าง กรณีล่าสุดที่พลัดตกท่อ สามารถเรียกร้องให้ กฟน.รับผิดชอบ หากปรากฏว่าไม่ได้รับการเยียวยา ผู้เสียหายสามารถอุทธรณ์คำสั่งต่อ รมว.มหาดไทย และหากปรากฏว่ายังไม่ได้รับการเยียวยาที่พึงพอใจอีก ก็สามารถฟ้องต่อศาลปกครองได้ภายใน 30 วัน เพื่อให้สองหน่วยงานรับผิดชอบ

ขณะเดียวกันในทางอาญา สามารถเอาผิดกับผู้รับผิดชอบโดยตรง เช่น ลูกจ้าง (supplier) และหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนควบคุม ผู้เสียหายสามารถแจ้งความดำเนินคดี แต่ทั้งนี้การเอาผิดทางอาญากับหน่วยงานของรัฐแทบไม่เกิดขึ้น เนื่องจากมีความยากในการสืบค้นตัวการผู้กระทำผิด ส่วนใหญ่จึงมักฟ้องให้รับผิดเยียวยาชดใช้ค่าเสียหายมากกว่า

อย่างไรก็ตาม มีข้อแนะนำหากประชาชนประสบเหตุจนได้รับบาดเจ็บ/สาหัส หรือเสียชีวิต รวมถึงทรัพย์สินเสียหาย ขอให้ไปแจ้งความในท้องที่เกิดเหตุไว้ จากนั้นให้ยื่นคำร้องขอรับการเยียวยาจากหน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าของโครงการ

ส่วนจะทำอย่างไรไม่ให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว กลายเป็นบทเรียนแบบไฟไหม้ฟาง ทนายอั๋นย้ำว่า ในกรณีลุงพลัดตกท่อ ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไข และกรณีแบบนี้ควรดำเนินคดีเพื่อขอรับการเยียวยาต่อหน่วยงานรัฐให้ “ถึงที่สุด” เพื่อกระตุ้นให้ใช้ความระมัดระวังภัยที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน

ในอดีตมีคดีที่เทียบเคียงได้คือ กรณีประชาชนวิ่งออกกำลังกายแล้วตกรางระบายน้ำในพื้นที่ จ.เชียงราย คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยพิพากษาให้หน่วยงานรัฐชดใช้สองแสนกว่าบาท ตามคำพิพากษาคดี หมายเลขแดงที่ อ.698/2557”

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9(3) ระบุให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณา คดีที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานรัฐ อันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และมาตรา 72 (3) ระบุว่า ในการพิพากษาคดี ศาลปกครองมีอำนาจสั่งให้ใช้เงิน ในกรณีที่มีการฟ้องเกี่ยวกับการกระทำละเมิด

พร้อมย้ำเพื่อความปลอดภัยของประชาชนและไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก เนื่องจากเหตุการณ์ในลักษณะนี้สามารถป้องกันได้ จึงอยากขอให้หน่วยงานรัฐจัดทำแผนสำรวจตรวจสอบความปลอดภัยจากงานก่อสร้าง งานระบายน้ำ งานถนนที่ชำรุดแล้วยังไม่ซ่อมบำรุง หรืองานตัดแต่งต้นไม้ตามแนวถนน และจะต้องมีแผนดำเนินการและปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัด

“หากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น เหตุการณ์แบบนี้คงไม่เกิดขึ้นบ่อยๆ” ทนายอั๋น ฝากทิ้งท้าย