เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่รัฐสภา พรรคก้าวไกล นำโดยนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานคณะทำงานความหลากหลายทางเพศและคนเท่ากัน พรรคก้าวไกล นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ นายเอกราช อุดมอํานวย สส.กทม. และภัสริน รามวงศ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล พร้อมด้วยผู้แทนจากภาคประชาสังคมกลุ่มสัปภาคีนอนไบรีเพื่อรับรองสำนึกทางเพศ (Hepta-Consortium of Non-binary People for Legal Gender Recognition: HCNL) ร่วมกันจัดประชุมนัดแรกเพื่อตั้งคณะทำงานยกร่าง พ.ร.บ.การแก้ไขคำนำหน้านามและการระบุเพศฉบับใหม่

นายธัญวัจน์ กล่าวว่า ถึงแม้สภาผู้แทนราษฎรจะมีมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.การรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศของพรรคก้าวไกลเมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่พรรคก้าวไกลก็ไม่ได้ท้อถอย โดยช่วงเวลาที่ผ่านมาพรรคฯ ได้นำความคิดเห็นและข้อท้วงติงของ สส.และประชาชนไปคิดทบทวนและปรึกษาหารือร่วมกับภาคประชาสังคม จนกลายมาเป็นการจัดตั้งคณะทำงานในวันนี้เพื่อนำรายละเอียดจากร่างกฎหมายเดิมมาปรับปรุง และยกร่างฉบับใหม่เป็น “ร่าง พ.ร.บ.การแก้ไขคำนำหน้านามและการระบุเพศ พ.ศ. ….” เตรียมยื่นเข้าสู่สภา ในสมัยประชุมที่จะถึงนี้

นายธัญวัจน์ กล่าวต่อไปว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีหลักการสำคัญคือ การให้สิทธิแก่บุคคลในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำนำหน้านามและการระบุเพศให้เป็นไปตามเจตจำนงและอัตลักษณ์ทางเพศของตน  โดยจะแก้ไขคำนำหน้านามตามระบบเดิมเป็น “นาย” หรือ “นางสาว” หรือจะใช้คำนำหน้าว่า “นาม” ที่ไม่มีลักษณะเป็นชายหรือเป็นหญิงก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อทำให้ข้อมูลในทะเบียนราษฎรสอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลนั้น ลดอุปสรรคในการดำเนินชีวิตและการยืนยันตัวตนในงานทะเบียนราษฎรต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการพิทักษ์สิทธิของประชาชนในการกำหนดอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง รวมถึงเจตจำนงในการเปลี่ยนแปลงสภาพร่างกาย ซึ่งประชาชนต้องได้รับสิทธิและสวัสดิการตามร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

สำหรับข้อกังวลที่สังคมมักตั้งคำถามว่า การปลดล็อกให้ทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงคำนำหน้านามเป็นรูปแบบใดก็ได้ตามเจตจำนงของตน จะสร้างความสับสนวุ่นวายในสังคมหรือไม่ ธัญวัจน์ กล่าวว่า หากลองคิดมุมกลับ การที่บุคคลใช้คำนำหน้านามแบบไม่สอดคล้องกับเพศสภาพของตน น่าจะสร้างความสับสนให้กับสังคมมากกว่า เช่น บุคคลเพศกำเนิดชายที่เปลี่ยนแปลงสภาพร่างกายเป็นเพศหญิงแล้ว แต่ยังคงต้องใช้คำนำหน้านามว่า “นาย” อยู่ ย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และทำให้การยืนยันตัวตนในงานทะเบียนราษฎรต่างๆ เป็นปัญหา ดังนั้นการเปลี่ยนคำนำหน้านามจะทำให้เอกสารทางราชการสอดคล้องไปตามเพศสภาพของแต่ละบุคคล ช่วยลดความสับสนและลดอุปสรรคในการดำเนินชีวิตของประชาชนได้

“ต่อจากนี้ คณะทำงานจะเร่งเดินหน้ายกร่าง พ.ร.บ.การแก้ไขคำนำหน้านามและการระบุเพศให้เสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อให้พร้อมยื่นเข้าสู่สภา ทันทีเมื่อเปิดสมัยประชุม” นายธัญวัจน์กล่าว.