เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม สั่งการทุกหน่วยเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตั้งแต่ต้นปี รวมไปถึงมีวางแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันภัยพิบัติจากสถานการณ์อุกทกภัยและปัญหาน้ำแล้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่งผลให้สถิติความเสียหายภัยจากน้ำลดลงอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับปี 2554 มีการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินถึง 65 จังหวัด เสียหาย 69 ล้านไร่ ขณะที่ในปี 2564 ครบรอบ 10 ปี ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ “จิสด้า” พบว่าปี 2564 น้ำท่วมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง 21 จังหวัด มีพื้นที่เสียหาย 1.33 ล้านไร่ ขณะที่ สถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของไทย ปี 2564 ยังมีระดับน้ำน้อย ยังมีพื้นที่เพียงพอรองรับปริมาณน้ำฝนอีกมาก และมีการประเมินว่า กทม.น้ำจะไม่ท่วมหรือรุนแรงเท่ากับปี 2554 เปรียบเทียบสถานการณ์อุทกภัยในปี 2554 กับ 2564 ปริมาณฝนสะสม (ทั้งประเทศ) ปี 2554 มีปริมาณฝนสะสม 1,948 มิลลิเมตร ขณะที่ปี 2564 (1 ม.ค.-ปัจจุบัน) มีปริมาณ 1,360 มิลลิเมตรน้อยกว่า ปี 2554 อยู่ 588 มิลลิเมตร

นายธนกร กล่าวต่อว่า รวมถึงปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปี 2554 รวม 23,605 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 95 เปอร์เซ็นต์ แต่ในปีนี้ รวม 11,969 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 48 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ปริมาณน้ำรวม 4 เขื่อน น้อยกว่าปี 2554 อยู่ 11,636 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนปริมาณน้ำไหลผ่านบริเวณ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ปี 2554 อยู่ที่ 3,903 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะเดียวกันยังได้มีการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี พ.ศ.2561-2580 ซึ่งการดำเนินการแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วมแบบบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าโดยลำดับ.