วันที่ 14 ต.ค. “ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)” ได้ออกรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยระบุ กนง.เห็นว่ามาตรการการคลังจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันทั้งการเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจ และต่อไปควรเน้นสร้างรายได้และเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟู ยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจภายโควิด-19 คลี่คลาย ส่วนการขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% จะเอื้อให้ภาครัฐสามารถออกนโยบายเพื่อช่วยเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีลดลงในระยะต่อไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐที่จะกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว

ทั้งนี้ การใช้จ่ายของภาครัฐควรเน้นโครงการที่มีประสิทธิผลสูง เช่น มาตรการที่รัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายและภาคเอกชนมีส่วนร่วม เพื่อให้มีตัวทวีทางการคลังสูงและได้ผลในวงกว้างขึ้น รวมทั้งควรมีกระบวนการใช้จ่ายที่โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ โดยระยะต่อไป ภาครัฐควรเตรียมแนวทางที่ชัดเจนในการทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ปรับลดลงเพื่อรักษาวินัยทางการคลัง รวมทั้งสร้างพื้นที่ทางการคลังเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต เช่น การหารายได้เพิ่มเติมจากการสร้างฐานรายได้ใหม่ การควบคุมสัดส่วนของรายจ่ายประจำ การเพิ่มสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างและยกศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว

ขณะที่เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาส 3 ปี 64 และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้า แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 0.7% ในปีนี้ และปี 65 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.9% แม้ในไตรมาส 3 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดและการส่งออกที่ชะลอลงกว่าคาด แต่พัฒนาการด้านวัคซีนดีขึ้นชัดเจนและการผ่อนคลายมาตรการการระบาดที่เร็วกว่าคาด จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปีนี้

นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังเจอกับความไม่แน่นอนสูง โดยต้องติดตามแนวโน้มการระบาดและการกลายพันธุ์ของไวรัส รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยว, การฟื้นตัวของความเชื่อมั่นภาคเอกชนหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งจะส่งผลต่อการบริโภคและการลงทุน, ความต่อเนื่องของมาตรการของภาครัฐเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในระยะต่อไป และปัญหาอุปทานหยุดชะงัก และต้นทุนค่าขนส่งสินค้าทางเรือ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกสินค้า

“เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสที่ 3 ปี 64 และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้า แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญคือการฟื้นตัวของอุปสงค์ที่เลื่อนมาจากช่วงก่อนหน้า ในช่วงที่เหลือของปี 64 จากพัฒนาการด้านวัคซีนที่ปรับดีขึ้นและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด ซึ่งส่งผลให้ประมาณการเศรษฐกิจใกล้เคียงกับการประเมินครั้งก่อนแม้การส่งออกชะลอลง ต้องติดตามพัฒนาการด้านวัคซีนทั้งการนำเข้าและกระจายวัคซีนตามแผนของรัฐบาล รวมถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด”