นายเผชิญศักดิ์ แก้วเขียว ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2 เปิดเผยว่า โครงการ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย” เป็นโครงการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำริ ให้คณะกรรมการนำไปพิจารณาริเริ่มดำเนินการนำร่องในประเทศไทย โดยได้ทอดพระเนตรตัวอย่างโครงการนี้ คราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศเยอรมนี เมื่อปี พ.ศ. 2552 โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกับเครือข่ายโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนดำเนินงานโครงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 เป็นต้นมา

สำหรับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2 มีโรงเรียนในสังกัดเข้าร่วมโครงการครบทั้ง 132 โรงเรียน และได้ผ่านการประเมินเพื่อรับตราพระราชทาน “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย” ประจำปีการศึกษา 2562 โดยผ่านรอบที่ 1 จำนวน 36 โรงเรียน ผ่านรอบที่ 2 จำนวน 6 โรงเรียน และผ่านรอบที่ 3 จำนวน 15 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 57 โรงเรียน แต่ด้วยมีเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องเลื่อนการจัดพิธีรับตราพระราชทานฯ

นายเผชิญศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดส่งตราพระราชทาน “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย” ประจำปีการศึกษา 2562 มาให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกย่อง เชิดชูเกียรติโรงเรียนในสังกัดที่ผ่านการประเมินจากคณะกรรมการ จึงได้จัดพิธีรับมอบตราพระราชทานฯ โดยใช้ห้องประชุมทวารวดี ทั้งนี้โรงเรียนที่ผ่านการประเมินในรอบที่ 3 ก็จะต้องกลับไปดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเตรียมความพร้อมรับการประเมินรอบใหม่ในอีก 5 ปีข้างหน้า

ด้านนางสุมาลี สุธีกุล ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2 ผู้รับผิดชอบโครงการ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย” กล่าวว่า โรงเรียนที่ผ่านการประเมินและได้รับตราพระทานฯ ถือเป็นเกียรติประวัติของโรงเรียน บ่งบอกถึงความมีศักยภาพของครูผู้สอนในระดับปฐมวัย ซึ่งมีความตั้งใจ ทุ่มเทในการพัฒนาการจัดกิจกรรมการทดลองตามโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย กิจกรรมการทดลองรวมทั้งการทำโครงงานวิทยาศาสตร์จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของผู้เรียนในด้านต่างๆ ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา และยังเป็นการพัฒนาทักษะ กระบวนการ และคุณลักษณะจิตวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กนักเรียนระดับปฐมวัย ที่จะเป็นรากฐานที่ดีของการพัฒนาคุณภาพของพลเมืองในอนาคต ที่จะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป