เมื่อวันที่​ 24​ ต.ค.​ นายชัยวุฒิ​ ธนาคมานุสรณ์​ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม​ (ดีอีเอส)​ โพสต์เฟซบุ๊ก​ ชัยวุฒิ​ ธนาคมานุสรณ์​ ระบุว่า​ พระเกี้ยว สัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของชาวนิสิตจุฬาฯ อันมาจากชื่อของมหาวิทยาลัยซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัย หากสืบประวัติที่มาของประเพณีการอัญเชิญตราพระเกี้ยวเข้ามาในสนามแข่งขันนั้น น่าจะคล้ายเหมือนเป็นการเปิดงาน ซึ่งทางธรรมศาสตร์จะต้องมีตราธรรมจักร ส่วนจุฬาฯ เชิญตราพระเกี้ยว การอัญเชิญตราพระเกี้ยวเปรียบเสมือนการอัญเชิญพระพุทธเจ้าหลวงทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งเป็นผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัย เข้ามาในงาน และเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่นักกีฬาและเหล่ากองเชียร์ ดังประโยคที่ดังก้องอยู่ในใจชาวจุฬาฯ ทุกคนว่า “สีชมพูจักอยู่ในกายเจ้า พระเกี้ยวเกล้าจักอยู่เป็นคู่ขวัญ”

นายชัยวุฒิ ระบุด้วยว่า  “ผมในฐานะอดีตหัวหน้านิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ปี 2536 มีความภาคภูมิใจในอดีตที่ได้เคยเป็นส่วนหนึ่งในการเชิญพระเกี้ยวเข้ามาในงานฟุตบอลประเพณี ผมจำได้ดีว่าพวกเราทุกคนจะแบ่งหน้าที่กันทำกิจกรรมด้วยความภาคภูมิใจ ผมเชื่อมั่นว่านิสิตทุกคนที่อยู่ในงานมีความสุขและดีใจที่ได้มาร่วม แม้ว่าจะเป็นคนแบกเสลี่ยง เราก็ภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ของเรา สังคมเปลี่ยน วัฒนธรรมบางอย่างอาจต้องเปลี่ยน แต่คุณค่าของพระเกี้ยวสำหรับชาวจุฬาไม่เคยเปลี่ยน ผมเชื่ออย่างนั้นจริงๆครับ และขอให้น้องๆนิสิตจุฬา ไม่ว่าจะจัดกิจกรรมกรรมกันอย่างไร ก็ขอคิดถึงคุณค่าของพระเกี้ยว และเกียรติภูมิที่พวกเรายึดถือกันไว้ตลอดมา

เกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน”