สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ว่านายนิโคลัส คุมเจียน หัวหน้าคณะกลไกการตรวจสอบอิสระเรื่องเมียนมา ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ว่าผลการสอบสวนเบื้องต้นพบว่า นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา พลเรือนเมียนมาตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีอย่างแพร่หลายและเป็นระบบ “ในรูปแบบที่เข้าข่ายเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”


ทั้งนี้ คุมเจียน ซึ่งเป็นนักกฎหมายชาวอเมริกัน ได้รับการแต่งตั้งจากนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อปี 2562 มีประสบการณ์เป็นอัยการคดีพิเศษระหว่างประเทศในศาลของยูเอ็น ซึ่งจัดตั้งเพื่อไต่สวนเหตุการณ์ในกัมพูชา บอสเนีย และติมอร์เลสเต ขยายความ “การโจมตีอย่างเป็นระบบ” ว่าเป็นรูปแบบของมาตรการตอบสนองโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต่อกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหาร ในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังการยึดอำนาจ แล้วหลังจากนั้นเข้าสู่การยกระดับมาตรการกดดันผู้ชุมนุม กลยุทธ์ดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกัน หรือในเวลาไล่เลี่ยกัน ตามหลายพื้นที่ในเมียนมา ทำให้อนุมานได้ว่า “เป็นนโยบายจากส่วนกลาง”


ขณะเดียวกัน คณะทำงานของยูเอ็นพบว่า รัฐบาลทหารเมียนมา “มีกลุ่มเป้าหมาย” ในการจับกุม คุมขัง และดำเนินคดีโดยไม่ผ่านกระบวนการทางกฎหมาย นั่นคือ ผู้สื่อข่าว บุคลากรการแพทย์ นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม และนักเคลื่อนไหวซึ่งมีจุดยืนทางการเมืองคนละฝั่ง

นอกจากนี้ คุมเจียนกล่าวถึงการทำงานร่วมกับเฟซบุ๊ก และคาดหวังว่า เครือข่ายสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของโลกจะมอบข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการสอบสวนเรื่องเมียนมาเพิ่มอีก โดยเฉพาะในประเด็นสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮีนจา ซึ่งส่งผลให้เมียนมาต้องสู้คีดที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) หรือศาลโลก เมื่อปี 2560.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES