เมื่อวันที่ 9 ก.ค. นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กรายงานสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก วันที่ 12 ก.ค. 64 มีรายละเอียดดังนี้

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 365,453 คน รวมแล้วตอนนี้ 187,612,075 คน ตายเพิ่มอีก 6,105 คน ยอดตายรวม 4,048,700 คน

5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ อินเดีย อินโดนีเซีย สหราชอาณาจักร รัสเซีย และบราซิล

อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 6,370 คน รวม 34,732,481 คน ตายเพิ่ม 26 คน ยอดเสียชีวิตรวม 622,844 คน อัตราตาย 1.8%
อินเดีย ติดเพิ่ม 37,676 คน รวม 30,873,907 คน ตายเพิ่ม 720 คน ยอดเสียชีวิตรวม 408,792 คน อัตราตาย 1.3%
บราซิล ติดเพิ่ม 20,937 คน รวม 19,089,940 คน ตายเพิ่มถึง 539 คน ยอดเสียชีวิตรวม 533,488 คน อัตราตาย 2.8%
ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 4,256 คน ยอดรวม 5,812,639 คน ตายเพิ่ม 4 คน ยอดเสียชีวิตรวม 111,325 คน อัตราตาย 1.9%
รัสเซีย ติดเพิ่ม 25,033 คน รวม 5,783,333 คน ตายเพิ่ม 749 คน ยอดเสียชีวิตรวม 143,002 คน อัตราตาย 2.5%

อันดับ 6-10 เป็น ตุรกี สหราชอาณาจักร อาร์เจนติน่า โคลอมเบีย และอิตาลี ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น

แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย อย่างชิลี เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล ญี่ปุ่น เมียนมาร์ เกาหลีใต้ เวียดนาม และมาเลเซีย ติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
เกาหลีใต้เกินพันมาติดกันเป็นวันที่ 5 ล่าสุด 1,324 คน ส่วนเวียดนามทำลายสถิติอย่างต่อเนื่อง ติดเพิ่มถึง 1,953 คน
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่อยู่หลักร้อย ยกเว้นคาซักสถาน คีร์กีซสถาน เบลารุส และมองโกเลียที่ติดเพิ่มหลักพัน
แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ในขณะที่อิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่น
กัมพูชาติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน ไต้หวัน ลาว และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง และสิงคโปร์ ติดเพื่มต่ำกว่าสิบ

…จากยอดรายงานของไทยเมื่อวานนี้ จำนวนติดเชื้อใหม่ของเราสูงเป็นอันดับที่ 11 ของโลก โดยมีจำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติตอนนี้ถึง 2,783 คน มากเป็นอันดับที่่ 8 ของโลก และมีเคสสะสมในระบบดูแลรักษากว่า 85,000 คน
หากรวมยอดของวันนี้ จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมของไทยเราแซงอาเซอร์ไบจันขึ้นเป็นอันดับที่ 60 ของโลก

การตัดสินใจเรื่องการให้กักตัวอยู่ที่บ้านหรือ home isolation นั้นจะมีโอกาสเกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ตามมา ซึ่งประชาชนต้องตระหนักและเตรียมรับมือให้ดี เพราะมีคนจำนวนน้อยที่จะมีที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่เพียงพอในการแยกออกจากสมาชิกในบ้าน ดังนั้นการติดเชื้อแพร่เชื้อกันภายในบ้าน หอพัก คอนโด แฟลต หรือชุมชนต่างๆ จะมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้ ขอให้ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด และหมั่นสังเกตอาการของสมาชิกที่อาศัยอยู่ร่วมกันทุกวัน หากไม่สบายก็ต้องรีบไปตรวจ

Blomberg B และคณะ ตีพิมพ์ผลการศึกษาในนอร์เวย์ ติดตามผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่กักตัวอยู่ที่บ้านจำนวน 247 คน ณ 6 เดือน พบว่ามีถึง 55% ที่รายงานว่ายังมีอาการผิดปกติคงค้างอยู่ โดยอาการที่พบบ่อยได้แก่ อาการอ่อนเพลียพบได้ถึง 30%, ดมกลิ่นหรือลิ้นรับรสผิดปกติ 27%, ไม่มีสมาธิ 19%, สูญเสียความจำ 18%, เหนื่อยหอบ 15%

ทั้งนี้พบว่าเด็กที่อายุ 0-15 ปี จะพบอาการคงค้างน้อยกว่าช่วงอายุอื่น โดยมีเพียง 13%

อาการคงค้างที่เราเรียกว่า Long COVID หรือ Post-acute COVID หรือ Chronic COVID syndrome นั้น มีงานวิจัยที่รายงานมากขึ้นเรื่อยๆ พบได้ตั้งแต่ 10-55% ขึ้นอยู่กับกลุ่มประชากรและลักษณะทางคลินิก

ไทยเราอาจต้องวางแผนเพื่อจัดระบบการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการคงค้างนี้ด้วย
คงดีที่สุด หากสามารถป้องกันตนเองและครอบครัวไม่ให้ติดเชื้อ
ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า เรื่องนี้สำคัญมาก
ด้วยรักและห่วงใย

อ้างอิง
Blomberg, B., Mohn, K.GI., Brokstad, K.A. et al. Long COVID in a prospective cohort of home-isolated patients. Nat Med (2021).