นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายสืบสาน รักษาและต่อยอดทางวัฒนธรรมสู่การสร้างคุณค่าและมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ พร้อมมอบนโยบายสืบสาน รักษาและต่อยอดทางวัฒนธรรมสู่การสร้างคุณค่าและมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) วัฒนธรรมจังหวัด ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เข้าร่วม ที่โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพฯ 

นายอิทธิพล กล่าวว่า ขณะนี้ วธ.ได้ปรับเปลี่ยนภารกิจทั้งการสร้างคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กลายเป็น “กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ” ที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ตามแผนปฏิบัติราชการ วธ.ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) สำหรับวิสัยทัศน์ใหม่ที่จะเริ่มใช้ในปี พ.ศ.2565 คือ “วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ มีบทบาทนำในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย” และมียุทธศาสตร์ 6 ข้อ ประกอบด้วย 1.เสริมพลังการเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ และการสืบสาน สร้างสรรค์ทางศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน 2.ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยมิติทางวัฒนธรรมและพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมวัฒนธรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก 3.เสริมสร้างภาพลักษณ์ เกียรติภูมิ และยกระดับบทบาทด้านวัฒนธรรมของไทยในเวทีโลก 4.ปลุกจิตสำนึกและเสริมสร้างค่านิยมเชิงบวกสู่สังคมคุณธรรมในบริบทสังคมไทยและสังคมโลก 5.พัฒนาสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และการสร้างสรรค์งานด้านศิลปวัฒนธรรม และ 6.พัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการงานศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมสู่ระดับนานาชาติ

รมว.วัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า ขอให้หน่วยงานสังกัด วธ.ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เอกชน สภาวัฒนธรรมทุกระดับ เครือข่ายทางวัฒนธรรมและชุมชน ขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรมในปี พ.ศ. 2565 โดยมุ่งเน้น 6 ด้าน ได้แก่ 1.การเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ รักษาและสืบสานศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม เช่น งาน “ใต้ร่มพระบารมี กรุงรัตนโกสินทร์” งานมหกรรมวัฒนธรรมทั่วประเทศ งานพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน 2.การส่งเสริมการนำวัฒนธรรมมาสร้างเศรษฐกิจ เช่น ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) สู่สากล การพัฒนาลายผ้าและยกระดับผ้าไทยสู่สากล การท่องเที่ยวชุมชน ยลวิถี ยกระดับเทศกาลประเพณีท้องถิ่นสู่สากล และโครงการพัฒนาศักยภาพศิลปินและบุคลากรในภาคศิลปวัฒนธรรม 3.การยกระดับ Soft Power ไทยในเวทีโลก เช่น การส่งเสริมสื่อและคอนเทนต์ไทย เช่น ภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ เกม โฆษณา ซึ่งสะท้อนและสอดแทรกวัฒนธรรม ความเป็นไทย เผยแพร่สู่ระดับโลก การส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่มีศักภาพของไทย 5 F ได้แก่ อาหารไทย แฟชั่น มวยไทย ภาพยนตร์ และประเพณีท้องถิ่นสู่สากล และบทบาทด้านวัฒนธรรมของไทยในเวทีองค์การระหว่างประเทศ

4.การสร้างค่านิยมเชิงบวก ภูมิคุ้มกันทางสังคม และสังคมคุณธรรม เช่น การเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อ ผลิตและเผยแพร่สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การส่งเสริมบุคคล ครอบครัว ชุมชน อำเภอ จังหวัด และองค์กรคุณธรรม 5.ยกระดับการศึกษาและการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เช่น เปิดพื้นที่หอศิลป์แห่งชาติ พัฒนาให้เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมระดับโลก ยกระดับแหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ทั่วประเทศโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ 6.ยกระดับการบริหารจัดการงานวัฒนธรรม เช่น จัดทำศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ด้านวัฒนธรรม ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายด้านวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมปัจจุบัน และขับเคลื่อนงานยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ