เมตา อิงค์ กล่าวว่าในรายงานเกี่ยวกับความพยายามเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับต้นกำเนิดของโรคโควิด-19 บนเครือข่ายโซเชียลมีเดียโดย วิลสัน เอ็ดเวิร์ดส์ “นักชีววิทยาชาวสวิส” พบว่าความพยายามดังกล่าว “ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก” และพบว่ามีการพุ่งเป้าหมายไปที่ผู้ใช้งานในสหรัฐ, อังกฤษ ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก รวมถึงชาวจีนในไต้หวัน, ฮ่องกง และทิเบต ที่ใช้ภาษาอังกฤษได้

โพสต์ของ “นักชีววิทยาชาวสวิส” ถูกนำไปใช้กล่าวอ้างและแชร์กันอย่างแพร่หลายโดยสื่อมวลชนในความดูแลของรัฐบาลจีนราวเดือนกรกฎาคม ต่อมาในเดือนสิงหาคม หนังสือพิมพ์จีนหลายฉบับก็ลบความคิดเห็นและบทความที่เขียนถึงคำกล่าวอ้างของเอ็ดเวิร์ดส์ทิ้ง หลังจากสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ในปักกิ่งปฏิเสธว่า ไม่พบหลักฐานว่าชายคนดังกล่าวเป็นพลเมืองชาวสวิส

เมตา อิงค์ ระบุว่าเฟซบุ๊กลบบัญชีผู้ใช้งานของวิลสัน เอ็ดเวิร์ดส์ ออกไปในเดือนสิงหาคม และนับแต่นั้นก็ได้ลบบัญชีของผู้ใช้งาน 524 ราย เพจสาธารณะ 20 เพจ กลุ่มบนเฟซบุ๊ก 4 กลุ่ม และบัญชีผู้ใช้งานอินสตาแกรมอีก 86 บัญชี หลังจากการสืบสวน ซึ่งทำให้คอนเทนต์ต่าง ๆ ที่บัญชีผู้ใช้เหล่านี้เป็นผู้โพสต์ได้หายไปด้วย

“เราพบความเชื่อมโยงของความเคลื่อนไหวกับบุคคลหลายคนในจีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงลูกจ้างของบริษัทแห่งหนึ่งในจีน ซึ่งก็คือบริษัทเสฉวน ไซเลนซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด แล้วยังมีบุคคลอีกหลายคนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะซึ่งอยู่ในความดูแลของรัฐบาลจีนที่กระจายอยู่ทั่วโลก” เดวิด อากราโนวิช หัวหน้าฝ่ายดูแลการข่มขู่และก่อความไม่สงบระดับนานาชาติของเมตา อิงค์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว

บริษัทเสฉวน ไซเลนซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด ยังไม่ตอบกลับหลังจากมีผู้สื่อข่าวไปสอบถาม เช่นเดียวกับกระทรวงต่างประเทศและสำนักกำกับดูแลพื้นที่ไซเบอร์สเปซของจีน อย่างไรก็ตาม เมตา อิงค์ ระบุว่าไม่พบความเกี่ยวโยงระหว่างบริษัทเสฉวน ไซเลนซ์ฯ กับรัฐบาลจีน

เว็บไซต์ของบริษัทเสฉวน ไซเลนซ์ฯ กล่าวถึงกิจการของบริษัทว่าเป็นบริษัทด้านเครือข่ายข้อมูลและรักษาความปลอดภัยบนเครือข่าย โดยเป็นผู้ให้บริการดูแลรักษาความปลอดภัยบนเครือข่ายให้กระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีนและศูนย์ประสานงานการรักษาความปลอดภัยคอมพิวเตอร์แห่งชาติจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญที่ทำงานประสานกันและสามารถตอบโต้การคุกคามอย่างเร่งด่วน เพื่อรักษาความปลอดภัยบนพื้นที่ออนไลน์

ในเดือนกรกฎาคม 2557 หลังจาก “วิลสัน เอ็ดเวิร์ดส์” เปิดบัญชีผู้ใช้งานบนเฟซบุ๊กได้ 10 ชั่วโมง ก็ได้โพสต์ข้อความที่กล่าวว่าเขาได้รับข้อมูลมาว่า สหรัฐกำลังหาทางที่จะลดความน่าเชื่อถือด้านคุณสมบัติของนักวิทยาศาสตร์จากองค์กรอนามัยโลกที่ทำงานร่วมกับจีนเพื่อสืบหาต้นตอของโรคโควิด-19 เมตา อิงค์ กล่าวว่าผู้ใช้งานบัญชีดังกล่าวอาศัยเครือข่ายเสมือนส่วนตัว (VPN) เพื่อปกปิดแหล่งที่มาของตัวเอง และพยายามใส่บุคลิกแบบคนจริง ๆ ให้ “เอ็ดเวิร์ดส์”

เบื้องต้น โพสต์ต้นฉบับของบัญชีดังกล่าวมีผู้ใช้งานบัญชีปลอมมากดไลก์และแชร์ออกไป และต่อมาก็มีผู้ใช้งานที่มีตัวตนจริงๆ ส่งต่อข้อความ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ทำงานในบริษัทเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะของจีน ซึ่งกระจายอยู่ใน 20 ประเทศทั่วโลก ขณะเดียวกัน สื่อในความดูแลของรัฐบาลจีน เช่น ไชน่าเดลี่และรายการข่าว CGTN ก็นำไปกล่าวถึง โดยอ้างว่าเป็นหลักฐานว่าสหรัฐแทรกแซงการทำงานขององค์กรอนามัยโลก

ต้นตอของไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 ยังคงเป็นเรื่องลึกลับและเป็นที่มาของบรรยากาศตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐและประเทศอื่น ๆ

เครดิตภาพ : Reuters