นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า จากนโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมและ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม มอบนโยบายให้กรมเจ้าท่า ร่วมกับภาคเอกชน ส่งเสริม ผลักดันยกระดับเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา ให้มีมาตรฐานและความปลอดภัย ผนวกกับการเชื่อมโยงกับระบบการขนส่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น รถโดยสารสาธารณะ และ รถไฟฟ้า ช่วยส่งเสริมการเดินทางทางน้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ควบคู่ไปกับพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำและพัฒนาประเทศ  

ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา กรมเจ้าท่าพัฒนาเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยาถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของยานยนต์ภาคการขนส่งทางน้ำ ร่วมกับ บริษัท อี สมาร์ท ทรานสปอร์ต จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) รองรับการให้บริการแก่ประชาชนในด้านความสะดวก ประหยัด ปลอดภัย ไร้มลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.63 ขณะเดียวกันกรมเจ้าท่ามีแผนพัฒนาและปรับปรุงท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคการขนส่งทางน้ำ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ประจำท่าเรือต่างๆ ในแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวทางน้ำที่จะกลับมาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นภายหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง  

ด้านนาวาโทปริญญา รักวาทิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อี สมาร์ท ทรานสปอร์ต จำกัด กล่าว่า สำหรับการกลับมาให้บริการ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง การให้บริการเรือโดยสารไฟฟ้า MINE Smart Ferry “Urban line” ในแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันเปิดให้บริการในเส้นทางท่าเรือพระนั่งเกล้า-ท่าเรือสาทร ในวันจันทร์-วันศุกร์ เริ่มเที่ยวแรกในช่วงเช้าจากท่าเรือพระนั่งเกล้า เวลา 06.15 น.จนถึง 07.45 น.และ ช่วงเย็น เริ่มเที่ยวแรกจากท่าเรือสาทร เวลา 15.55 น. จนถึง 18.00 น. สำหรับวันเสาร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เริ่มเที่ยวแรกในช่วงเช้าจากท่าเรือพระนั่งเกล้า เวลา 07.25 น. จนถึง 12.10 น. และช่วงเย็น เริ่มเที่ยวแรกจากท่าเรือสาทร เวลา 13.20 น. จนถึง 18.20 น. และในวันอาทิตย์ เริ่มเที่ยวแรกในช่วงเช้าจากท่าเรือพระนั่งเกล้า เวลา 07.50 น. จนถึง 10.50 น. และช่วงเย็น เริ่มเที่ยวแรกจากท่าเรือสาทร เวลา 15.00 น. จนถึง 18.00 น.เป็นการเพิ่มจำนวนเที่ยวเรือและระยะเวลาให้บริการมากขึ้น  

เรือไฟฟ้าที่ให้บริการในปี 64-65 จะทำให้มีเรือทั้งหมด 23 ลำ ใน 3 เส้นทาง ได้แก่ 1.ท่าเรือพระนั่งเกล้า-ท่าเรือสาทร หรือ Urban line เปิดให้บริการ 1 ธ.ค.64 2. เส้นทางท่าเรือพระราม7-ท่าเรือสาทร หรือ Metro line และ 3.เส้นทางท่าเรือปิ่นเกล้า-ท่าเรือสาทร หรือ City line นอกจากนี้บริษัทฯ มีแผนจะพัฒนาเรือรุนใหม่มาให้บริการ เพื่อเพิ่มความสะดวก สร้างความถี่ในการให้บริการ เดินทางเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอื่นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ได้ต่อเรือท่องเที่ยวที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเสร็จแล้ว 3 ลำ โดยให้บริการในพื้นที่ในเมืองส่วนใหญ่ เดิมปัญหาโควิด-19 จะหมดในช่วงไตมาส 3 ที่ผ่านมา ขณะนี้มีการกลายพันธุ์อีก ทำให้ต้องชะลอเปิดให้บริการไป  

นาวาโทปริญญา กล่าวต่อว่า ภาพรวมที่เปิดให้บริการได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากรูปแบบตัวเรือมีความทันสมัยและมีระบบปรับอากาศ ที่สำคัญภายในเรือมีเครื่องฟอกอากาศ ช่วยลดการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ดังนั้นทำให้มีการป้องกันแพร่โควิด-19 เต็มรูปแบบ นอกจากนี้มีการฉีกพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อก่อน-หลังให้บริการทุกครั้ง เพิ่มความมั่นใจให้ผู้โดยสาร ทั้งนี้ ผู้โดยสารสามารถจ่ายค่าโดยสารด้วยบัตรเดบิต บัตรเครดิต หรือบัตรที่มีสัญลักษณ์ Contactless หรือบัตร HOP งดรับเงินสด เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัส แตะจ่ายง่าย และสะดวกสบายยิ่งขึ้น ทำให้ยกระดับบริการเทียบเท่ากับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้า ด้วย  

สำหรับเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า MINE Smart Ferry ผลิตด้วยฝีมือคนไทย เป็นเรือโดยสารไฟฟ้าลำแรกของประเทศไทย เป็นการส่งเสริมทางเลือกใหม่ในการเดินทางในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไร้มลพิษ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่รัฐบาล ให้ความสำคัญคือ ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยในขณะนี้ที่ต้องเผชิญปัญหาสภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งการพัฒนาเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า MINE Smart Ferry ลำแรกในแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถช่วยลดปัญหามลภาวะและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งรองรับระบบ EMV card เข้าสู่สังคมยุคใหม่ ไร้เงินสด ลดการสัมผัส