สำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรปแถลงเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า คนจำนวนมากในเมื่องใหญ่ของยุโรปกำลังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางมลพิษทางอากาศที่มีความเข้มข้นถึงระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งที่มีการปรับปรุงมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมหลายด้านมากว่าสองทศวรรษและมาตรการล็อกดาวน์เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปีที่แล้วก็ทำให้มลพิษลดลง

มลพิษทางอากาศคือปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปที่ทำให้สุขภาพของประชาชนต้องอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อความเจ็บป่วย อนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชาชนในประเทศสหภาพยุโรปราว 307,000 คนในปี 2562 แม้ว่าเมื่อเทียบกับปี 2548 แล้ว จำนวนผู้เสียชีวิตจะลดลงถึง 33% ก็ตาม 

ในรายงานของสำนักงานสิ่งแวดล้อมฯ ระบุว่า ประชากรในเมืองใหญ่ของยุโรปประมาณ 97% ต้องสัมผัสกับฝุ่นละอองขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก ซึ่งสูงกว่าระดับปลอดภัยที่องค์กรอนามัยโลกกำหนดไว้ในปี 2562 ขณะที่อีก 94% ก็ต้องเผชิญกับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ซึ่งถือว่าเป็นพิษต่อร่างกาย เกินขีดกำหนดที่ปลอดภัย

มลพิษทางอากาศมีส่วนทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด, โรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคหอบหืด

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเฉพาะกาลของปี 2563 ซึ่งยังไม่ได้มีการยืนยัน ก็แสดงให้เห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นหลายประการ สำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรป กล่าวว่า สถานการณ์ที่ดูดีขึ้นนั้นเป็นเพราะเงื่อนไขทางสภาพอากาศและมาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 แพร่ระบาด ซึ่งช่วยหยุดยั้งกิจกรรมทางอุตสาหกรรมและการจราจรบนท้องถนนที่เป็นตัวก่อมลพิษไว้ชั่วคราว

จำนวน 95% ของสถานีวัดคุณภาพอากาศในเขตแดนของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศและประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในทวีปยุโรป ซึ่งรวมถึงตุรกีและโคโซโว ได้ตรวจพบความเข้มข้นของอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สูงกว่าระดับมาตรฐานที่ถือว่าปลอดภัยตามแนวทางขององค์กรอนามัยโลกในปี 2562 ขณะที่ในปี 2563 มีเพียง 92%

สำหรับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์นั้น มีการตรวจพบความเข้มข้นที่สูงเกินระดับที่ปลอดภัยตามมาตรฐานขององค์กรอนามัยโลกสูงถึง 79% โดยปีก่อนพบเพียง 71% ของสถานีตรวจวัดอากาศทั้งหมด

อนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กเกิดจากหลายแหล่ง เช่น การจราจรบนถนน, โรงงานอุตสาหกรรม ส่วนในยุโรปตะวันออกและยุโรปตอนกลางก็มีการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินเพื่อทำความร้อนในบ้าน ประเทศบอสเนีย, ตุรกี, โปแลนด์ และ บัลแกเรีย คือประเทศที่มีระดับความเข้มข้นของฝุ่นละอองเหล่านี้สูงที่สุด

จุดที่มีมลพิษเนื่องจากก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์เข้มข้นที่สุด ได้แก่ เยอรมนี และ ลักเซมเบิร์ก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการจราจรบนท้องถนน

ในรายงานย้ำถึงความแตกต่างระหว่างระดับมลพิษในอากาศที่ถือว่าเป็นอันตรายขององค์กรอนามัยโลกและมาตรฐานของยุโรปซึ่งต่ำกว่ามาก ในขณะที่องค์กรอนามัยโลกเตรียมจะปรับมาตรฐานให้สูงขึ้นอีกในปีนี้ หลังจากมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันได้ว่ามลพิษทางอากาศเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่งยวด

เมื่อใช้มาตรฐานของยุโรป พบว่ามีเพียง 1% ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศเท่านั้นที่ตรวจพบว่ามีระดับของฝุ่นละอองขนาดเล็กและก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์เกินขีดที่ถือว่าปลอดภัยต่อสุขภาพ

ทางสหภาพยุโรป กล่าวว่า หน่วยงานจะปรับเปลี่ยนมาตรฐานคุณภาพอากาศเสียใหม่ในปีหน้า และจะปรับให้เทียบเท่ากับมาตรฐานขององค์กรอนามัยโลก

เครดิตภาพ : Getty Images